กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – นักเศรษฐศาสตร์ซีไอเอ็มบีไทยประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 ติดลบหนักสุดถึง 14% และทั้งปีติดลบ 8.9% แม้จะมีการคลายล็อกเฟส 4 พร้อมคาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีไว้ที่ 0.5% ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าในกรอบ 31 – 31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น และอาจมีการคลายล็อกดาวน์เฟส 4 และคนเริ่มเดินทาง แต่เศรษฐกิจไทยก็จะยังฟื้นตัวแบบช้า ๆ ไม่ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V เนื่องจากกำลังการผลิตและความเชื่อมั่น รวมทั้งการบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 8.9% โดยเฉพาะไตรมาส 2 จะติดลบหนักสุด 14% และส่งออกจะติดลบสูงถึง 20% และไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยเลย ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสติดลบได้ถึง 10% สำหรับปัจจัยบวก คือ การควบคุมการระบาดได้เร็ว มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งต้องติดตามผลจากการใช้เงินในมาตรการเยียวยาและแผนฟื้นฟูฯ ว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมหวังว่าจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่นโยบายการเงิน มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้ว และธนาคารพาณิชย์ได้ขานรับนโยบายในการปรับลดดอกเบี้ยตาม เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบและลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการแล้ว หากปรับลดดอกเบี้ยลงอีกก็จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยมองว่าหากจำเป็น กนง.จะเลือกใช้เครื่องมืออื่น เช่น การลดดอกเบี้ยส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ มาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบในการขอกู้ซอฟท์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น พร้อมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะการเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพื่อให้อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เพื่อเสริมความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการผ่านมาตรการ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การส่งเสริมการนำเงินอออกไปลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างดีมานเทียม หรือเพิ่มความต้องการค่าเงินดอลลาร์ในรูปแบบของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ มาเลเชีย และจีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าในกรอบ 31 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจัยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ รวมทั้งมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมทั้งนำเงินเข้ามาพักในไทยมากขึ้น แม้จะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ก็จะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การระบาดรอบ 2 รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นในขณะที่การส่งออกไทยยังอ่อนแอ ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผันผวนของเงินบาทได้ โดยมองกรอบราคาน้ำมันปีนี้อยู่ที่ 40 – 45 ดอลลาร์/บาร์เรล.- สำนักข่าวไทย