รัฐสภา 4 มิ.ย.-ฝ่ายค้าน ชี้ พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 ขัดหลักการประชาธิปไตย ส่อขัดกฎหมาย ตั้งฉายานายกฯ “จอมโอนแห่งยุค” ด้าน “วิเชียร” ขอบคุณ ก.กลาโหม ปรับลดมากสุด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ได้รับมอบจากผู้นำฝ่ายค้านให้เป็นผู้อภิปรายแทนร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นครั้งแรกของสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะการพิจารณากฎหมายโอนงบประมาณตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีแล้ว 5 ครั้ง โดยเป็นการพิจาณาของสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน จากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้แล้ว เห็นว่าไม่สามารถรับหลักการได้ เพราะขัดหลักการ ขัดกับหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่น
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามหลักการการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงหลักความยินยอมของประชาชน เป็นหลักการสำคัญที่สภาต้องตรวจสอบได้ คือพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณพ.ศ.2561 กำหนดห้ามการโอนงบประมาณข้ามหน่วยงานเท่านั้น แม้กฎหมายจะอนุโลมให้โอนงบประมาณ แต่การโอนงบประมาณต้องเป็นการโอนระหว่างหน่วยรับงบประมาณด้วยกันเท่านั้น ดังนั้น การโอนงบประมาณเข้างบกลางจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายทันที เพราะงบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น ประกอบกับงบกลางส่วนนี้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ คือ นายกรรัฐมนตรีเท่านั้น
“การโอนงบประมาณครั้งนี้ต้องเรียกว่าจอมโอนแห่งยุค เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมโอนงบประมาณแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบมารองรับเพื่อให้งบกลางอยู่ในอำนาจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การทำร่างกฎหมายเช่นนี้เหมือนกับการเป็นหมัดมือสภาและตีเช็คเปล่า หากสภาอนุมัติให้ผ่านไป เราจะเป็นสภาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีรอยด่างว่าถูดหมัดมือชกและเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรเห็นชอบ เพราะไม่มีรายละเอียด ดังนั้น เพื่อศักดิ์ศรีของสภาเราโปรดอย่าได้รับหลักการ แต่หากจะรับหลักการก็ต้องรับหลักการแบบมีเงื่อนไข โดยหากการพิจารณาวาระ2และ3 ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณอีก ฝ่ายค้านในฐานะเสียงข้างน้อยจะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้” น.พ.ชลน่าน กล่าว
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ร่างงบประมาณฯที่นำเสนอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหากย้อนดูสถานการณ์ช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเห็นว่าสถานการณ์ในเดือนมีนาคมเริ่มการระบาดในประเทศไทยและรุนแรงต่อเนื่องจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้ วันที่ 7 เมษายน ครม.มีมติเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การโอนงบประมาณหรือหลักเกณฑ์ว่ามีงบประมาณส่วนใดบ้างที่ไม่สามารถใช้ได้ จากนั้นวันที่ 19 เมษายน ประกาศพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ซึ่งสภาฯอนุมติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายวิชียร กล่าวว่า งบกลางมีความจำเป็นที่รัฐมีไว้เพื่อสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เหมือนกับที่เรานำมาใช้แก้ไขปัญหาไวรัสโควิดในครั้งนี้ งบประมาณปี 63 ต้องมีส่วนที่ไม่สามารถจะดำเนินการได้ เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 แล้ว รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการใช้งบประมาณ เพราะฉะนั้นการพิจารณาว่าเมื่อไม่สามารถใช้งบประมาณในส่วนนั้นได้ ทำอย่างไรจึงจะนำงบประมาณนั้นมาใช้ประโยชน์ ประกอบกับเมื่อไม่มีงบกลางเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ได้
“โดยปกติการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ส่วนราชการสามารถขอเปลี่ยนแปลงรายการแต่ต้องอยู่ในขอบเขตและวัตถุประสงค์ แต่หากใช้งบประมาณไม่สำเร็จหรือไม่หมด เนื่องจากมีอุปสรรคก็ควรทำการโอนงบประมาณมาใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลได้นำประเด็นเหล่านี้มาเป็นร่างพ.ร.บ.เพื่อให้สภาได้พิจารณา ซึ่งหน่วยงานที่ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งคือกระทรวงกลาโหมที่ปรับลดงบประมาณมากที่สุดถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกระทรวงที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่ปรับลดน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การปรับลดดังกล่าวเนื่องจากงบประมาณในส่วนนั้นไม่สามารถใช้ได้ จะนำมาใช้งบกลางเพื่อสำรองในส่วนของเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ผมขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และเห็นควรรับหลักการ” นายวิชียร กล่าว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อสังเกตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสัดส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า พ.ร.ก.กู้เงินกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ปรับลดงบประมาณ แต่จัดสรรงบประมานตามกรอบความสำคัญคือ เพิ่มค่าตอบแทนอสม.คนละ 500 บาท วงเงิน 10,000 ล้านบาท การตรวจรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ฟรี วงเงิน 10,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำรองกรณีเกิดเหตุระบาดในช่วง 16 เดือนทั้งยา วัคซีน เวชภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์วงเงิน 10,000 ล้านบาท
“สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มีความสำคัญเป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพทุกระดับ ทั้งรพ.สต. รพ.จังหวัด รพ.ศูนย์ และจะส่งเสริมให้มีห้องแล็ปเพื่อตรวจเชื้ออีกวงเงิน 10,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบของ พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสิ้น.-สำนักข่าวไทย .