เชียงใหม่ 3 มิ.ย. – ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ทำถนนพาราซอยซีเมนต์ หรือถนนดินที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ไปเกือบ 40 โครงการ พบว่าคงทนและรับน้ำหนักได้ดี แถมประหยัดงบประมาณ ช่วยให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น
ช่วงหนึ่งของถนนที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านหัวฝายไปหมู่บ้านสะลวงนอก ในตำบลสะลวงนอก อำเภอแม่ริม ที่เชียงใหม่ ระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นต้นแบบของถนนพาราซอยซีเมนต์ หรือเรียกง่ายๆ คือถนนดินผสมซีเมนต์และยางพารา ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.เชียงใหม่ สร้างไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังใช้สัญจรไปมาได้ดี แม้พื้นผิวถนนพาราซอยซีเมนต์จะไม่ได้เรียบขนาดถนนแอสฟัลต์หรือคอนกรีต แต่ถ้าเทียบกับถนนดินลูกรังทั่วไปแล้วถือว่าดีกว่ามาก เพราะลดฝุ่น และรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ทำให้คงทนขึ้น
การทำถนนพาราซอยซีเมนต์ เช่นเดียวกับการทำถนนทั่วไปด้วยการรื้อ บดอัด ขึ้นรูปถนน ผสมด้วยซีเมนต์ 5-8 เปอร์เซ็นต์ และน้ำยางพาราที่ซื้อจากสหกรณ์ยางพาราของเกษตรกรในเชียงใหม่ ใช้ตารางเมตรละ 2 กิโลกรัม ซึ่งถนนยาว 1 กิโลเมตร จะใช้น้ำยางพาราราว 12 ตัน ทำให้ได้ถนนที่มีโครงสร้างแข็งแรงมากขึ้น โดยใช้งบประมาณกิโลเมตรละ 1,300,000 บาท ถูกกว่าการสร้างถนนลูกรังบดอัดหินคลุกครึ่งหนึ่ง
เมื่อถนนราคาถูกลงสามารถที่จะสร้างระยะทางได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญถนนพาราซอยซีเมนต์ยังเป็นถนนที่มีโครงสร้างแข็งแรง หากมีงบประมาณเพิ่มเติมสามารถลาดพื้นผิวถนนด้วยแอสฟัลต์เพิ่มได้เลย เหมือนที่ อบจ.เชียงใหม่ ต่อยอดปรับถนนพาราซอยซีเมนต์ลาดแอสฟัลเป็นถนนต้นแบบไว้ และช่วง 2 ปีมานี้ได้ดำเนินการสร้างถนนดินผสมยางพาราและซีเมนต์ ทั้งหมด 46 โครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ เพื่อเชื่อมเส้นทางหมู่บ้านในชนบทให้เดินทางและขนส่งสินค้าการเกษตรได้สะดวกขึ้น นอกจากได้ถนนคุณภาพดีขึ้น ยังมีส่วนช่วยในการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพยุงราคายางพาราไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย