ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 มิ.ย.- ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) ละเมิดสิทธิประชาชน ทำให้ต้องแบกรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพง
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่รัฐผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ โดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องเพิ่มเติมของนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จากที่ก่อนหน้านี้นายสุทธิพรได้ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบว่า การที่กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในการให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อย 51 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสองหรือไม่
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย เมื่อ 25 มิถุนายน 2562 ว่า การที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง พร้อมมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานทบทวน ปรับแผน PDP 2015 และ PDP 2018 กำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ให้แล้วเสร็จใน 120 วัน และทำให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี นับจากปี พ.ศ.2562 แต่กระทรวงพลังงานยังโต้แย้งว่านอกเหนือจากที่รัฐผลิตเองแล้วรัฐยังถือหุ้นอยู่ก็เท่ากับว่ารัฐมีสัดส่วนเป็นเจ้าของอยู่เกินกว่าร้อยละ 51 แต่เอกสารหลักฐานยังไม่ครบ จึงมีการขอขยายเวลาในการชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่
ต่อมา นายสุทธิพรได้ยื่นคำร้องอ้างว่า ผลจากการที่รัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามแผนดังกล่าวทำให้ตนในฐานประชาชนผู้บริโภค ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงด้วย ยิ่งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 และประชาชนต้องทำงานที่บ้าน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน และที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีมติว่า นายสุทธิพรถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่คุ้มครองไว้จากการกระทำของกระทรวงพลังงานที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงได้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสอง .- สำนักข่าวไทย