กรุงเทพฯ 1 มิ.ย.-ธุรกิจการบินของไทยระส่ำ!!! จับตาเดือน มิ.ย.นี้ หลายสายการบินหนีตายอีกรอบ ทั้งลดขนาดองค์กร ปลดคน ควบรวมกิจการ หลังแนวทางขอรัฐช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 25,000 ล้านบาท หายเงียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากวิกฤติในธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ บมจ.การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลางแล้ว ล่าสุดมีรายงานข่าวจากผู้บริหารสายการบินสัญชาติไทยที่ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ Low Cost Airline และ Full Service กำลังพิจารณาแนวทางที่จะต่อชีวิตธุรกิจภายในเดือนมิถุนายนนี้
โดยแม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันสายการบินเหล่านี้จะกลับมาบินให้บริการแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลา (เคอร์ฟิว) ให้บริการ และการเข้มงวดการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้สายการบินแต่ละแห่งมีผู้ใช้บริการในช่วงเช้าและเย็นจำนวนน้อยมากไม่คุ้มกับต้นทุนการประกอบการ และเชื่อว่าสถานการณ์เดือนมิถุนายนนี้ก็ยังคงไปในทิศทางเดียวกัน แม้ภาครัฐจะขยับผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 แล้ว
โดยผู้บริหารสายการบิน Low Cost Airline แห่งหนึ่ง ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการสายการบินกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหนัก และกำลังพิจารณาแนวทางลดขนาดองค์กร จำนวนพนักงาน และมีรายงานข่าวระบุด้วยว่ามีหลายสายการบินอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อนำไปสู่การควบรวมกิจการ
“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขอให้หยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศ การขอให้ชะลอการเลิกจ้างพนักงาน ทั้งที่สายการบินไม่ได้ทำการบินเลย เพื่อไม่ให้แรงงานในธุรกิจการบินที่มีกว่า 20,000 คน ต้องได้รับผลกระทบตามธุรกิจอื่น ๆ และการกลับมาให้บริการบิน ก็ดำเนินการจัดมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดตามแนวทางของภาครัฐทุกอย่าง ขณะที่มาตรการขอความช่วยเหลือหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่สายการบิน 8 แห่ง ขอความช่วยเหลือวงเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท จนถึงขนาดนี้ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยเหลือแม้แต่บาทเดียว” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริหารสายการบินต้นทุนต่ำอีกรายหนึ่งระบุว่า Timeline การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 สายการบิน 8 แห่ง ได้ยื่นจดหมายฉบับแรกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจสายการบินในประเทศไทย
วันที่ 7 เมษายน 2563 ทั้ง 8 สายการบินสัญชาติไทยได้ยื่นหนังสือฉบับที่ 2 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องขอให้รัฐบาลอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างหนักของวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ภาคธุรกิจการบินในประเทศไทย
หลังจากนั้นวันที่ 24 เมษายน 2563 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เรียกประชุมทั้ง 8 สายการบิน เพื่อหารือร่วมกันและได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เป็นเจ้าภาพปล่อยเงินกู้แก่สายการบิน โดยแบ่งเงินกู้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในธุรกิจการบิน (Pay roll) และส่วนที่ 2 เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจการบิน ( other fix costs)
ทั้งนี้ ทาง EXIM Bank ได้ขอข้อมูลด้านการเงินจากทุกสายการบินและได้นำส่งข้อสรุปเงื่อนไขต่าง ๆ ของการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกลับไปที่กระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งธนาคารออมสินก็เตรียมวงเงินกู้กว่า 20,000 ล้านบาท ไว้ให้ EXIM Bank เพื่อที่จะนำวงเงินดังกล่าวไปปล่อยให้เป็นซอฟท์โลนแก่ทั้ง 8 สายการบิน แต่ซอฟท์โลนดังกล่าวทั้ง 2 ก้อนที่คาดว่าจะได้รับก็ยังไม่ถูกอนุมัติให้ผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ผู้บริหารสายการบินหลายแห่งยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันสายการบินต่าง ๆ ยังเเบกรับผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน บางสายการบินจำเป็นต้องหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายในวิธีการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของบริษัทโดยด่วน
“เชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาสถานการณ์ธุรกิจการบินดี เพราะหลังจากนี้หากผู้ประกอบการต้องปิดให้บริการหรือยกเลิกเส้นทางบินจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อการกลับมาสนับสนุนการเดินทางในช่วงฟื้นฟูการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป” แหล่งข่าว กล่าว .-สำนักข่าวไทย