fbpx

“สุทิน”มองรัฐแก้โรคระบาดได้แต่ทำประเทศล้มเพราะศก.

รัฐสภา 31 พ.ค. -ประชุมสภาพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วันสุดท้าย “สุทิน” ชี้ รัฐบาลไม่กำหนดแหล่งกู้เงินชัดเจน ระบุ ป้องกันโรคระบาดได้ แต่ประเทศล้มเพราะพิษเศรษฐกิจ ตั้งข้อสังเกตเงื่อนไขช่วย SMEs ล้มเหลว กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ 


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน วันนี้(31 พ.ค.) เป็นวันสุดท้าย เริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น.โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยฝ่ายรัฐบาล คณะรัฐมนตรี(ครม.) และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เหลือเวลาอภิปราย 5 ชั่วโมง 32 นาที ขณะที่ฝ่ายค้านเหลือเวลาอภิปราย 4 ชั่วโมง 55 นาที ทั้งนี้ หลังการลงมติพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ที่ประชุมจะพิจารณาพ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และลงมติเวลา 20.00 น. โดยเผื่อเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า วันนี้พิจารณาแล้วเสร็จอย่างแน่นอน

ทันทีที่เปิดการประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ขอบคุณประธานการประชุมที่ควบคุมการอภิปรายตลอด 4 วันที่ผ่านมาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากเป็นไปตามนี้ คาดการณ์ว่า 13.30 นาทีน่าจะลงมติพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และช่วง 18.00-19.00 น่าจะลงมติพ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้


สำหรับการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินวันสุดท้าย สมาชิกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล สลับกันอภิปราย และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นที่สมาชิกตั้งข้อสังเกต โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายขอบคุณอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่เป็นกำลังหลักการการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายกำหนดนโยบายทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะดีต่อวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal ในอนาคต พร้อมยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยมีโครงการไทยเข้มแข็ง ได้ช่วยค่าตอบแทนเพิ่มเติมและจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจอสม. ซึ่งอสม.ได้รับการชดเชยเมื่อเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท พร้อมเสนอให้อสม.ที่ทำงานเกิน 30 ปีได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเหรียญเงินมงกุฎไทย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ 

นายชินวรณ์ เสนอให้ใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมลงไปสู่ฐานเศรษฐกิจคือชนบท ต้องพัฒนาการเจริญเติบโตไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทำเกษตรที่มีรายได้สูง ทำเกษตรอัจฉริยะ ให้เกษตรกรมีกระบวนการ มีเป้าหมาย มีตลาด และมีรายได้ที่ชัดเจนในอนาคต การรวมตัวกันเพื่อเกิดอุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยวทางการเกษตร นำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ฐานราก เศรษฐกิจชุมชน เกษตรพอเพียงผสมผสานนำไปสู่สินค้าบริการชุมชนและท่องเที่ยวชุมชนอย่างแท้จริง


นายชินวรณ์ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าสถานการณ์ของประเทศจะต้องเปลี่ยนแปลงไป อยากเรียกร้องให้สมาชิกรวมถึงรัฐบาล จะต้องหันกลับมาสู่การสร้างสังคมไทยหลังโควิด-19 ที่ไม่เหมือนเดิมแน่นอน โดยจะต้องสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ การศึกษาทางไกล ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลและธุรกิจออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งสำคัญคือด้านสุขภาพอนามัย จะต้องมีการรักษาทางไกล ต้องดูแลโครงการอสม. สร้างโรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบลให้เข้มแข็งอย่างจริงจัง และเปลี่ยนการบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้น

ด้าน น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงพ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือพ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ ซึ่งพ.ร.ก.นี้ตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ (BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้บริษัทที่ออกตราสารหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยให้กองทุนลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ให้นำเงินไปไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่มีกำหนดชำระเงินภายในปี 2564 เนื่องจากกลัวว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้คนไม่มั่นใจและไม่กล้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกใหม่ หรือเกิดการเทขายก่อนกำหนด เป็นผลให้ต้นทุนของบริษัทนั้นสูงขึ้นโดยตราสารหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะต้องเข้าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจัดระบบการลงทุนจะเป็นบริษัทใหญ่ ซึ่งหลักการของกองทุนดูเหมือนจะดี  เป็นการนำเงินมาอุ้มตลาดการเงินไม่ให้ล่มสลาย  แต่เมื่อนำมาเทียบกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีความลำเอียงในขณะที่เกิดสภาวะโควิด-19 เช่นนี้ ยังช่วยเหลือกลุ่มทุนใหญ่มากกว่ากลุ่มทุนเล็ก และประชาชน 

น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือระหว่างกลุ่ม SME กับ บริษัทขนาดใหญ่ เมื่อดูจากขนาดตลาดและสินเชื่อจากธนาคาร 15.3 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อให้กลุ่ม SME 5.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลให้ความช่วยเหลือซอฟโลน 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของตลาดสินเชื่อ SME  แต่เมื่อดูตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 45% แปลว่าหากดูเฉพาะเรื่องเงินที่รัฐบาลให้พยุงตลาดทุนใหญ่ได้มากกว่า เอสเอ็มอี เกือบ 5 เท่า โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้กำหนดว่าตราสารหนี้ที่ต้องเข้าร่วมของการจะต้องระดมทุนจากแหล่งอื่นให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มูลค่าตราสารหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท แปลว่าอย่างมากที่สุดที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการได้จะไม่เกิน 445,000 ล้านบาท

น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวว่า วงเงินที่รัฐบาลให้ตามพ.ร.ก.นี้คือ 4 แสนล้านบาท จะเห็นว่าครอบคลุมบริษัทใหญ่ถึงกว่า 90%  แต่วงเงินที่รัฐบาลตั้งให้กลุ่ม SME จากอบอุ้มได้เพียง 10% เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่น่าตกใจยิ่งกว่าเมื่อนำวงเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล มาหารจำนวนผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการ จะพบว่า พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาทฉบับนี้  มีข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย มีบริษัทที่จะเข้าเกณฑ์ 125 บริษัท เฉลี่ยแล้วจะได้รับการจัดสรรวงเงินรายละ 3,200 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก. ให้สินเชื่อ SME วงเงิน 5 แสนล้านบาท จำนวน SME ที่เข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือจะมี 1.9 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเฉลี่ยรายละ 263,158 บาทเท่านั้น ต่างกันถึง ต่างกัน 12,167 เท่า ซึ่งสัดส่วนนี้บ่งบอกว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างกลุ่มทุนใหญ่อย่างชัดเจน

“ฝั่งหนึ่งเป็นเงินกู้ ฝั่งหนึ่งเป็นหุ้นกู้ ถือเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กลับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ทำไมวงเงินที่ได้รับถึงต่างกันกว่า 1.2 หมื่นเท่า รัฐบาลอาจจะอ้างว่าหากทุนใหญ่ล้มจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ถ้ากลุ่ม เอสเอ็มอี ล้ม เศรษฐกิจจะเสียหายหรือไม่ แรงงานจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ คนที่จะตายคือกลุ่มทุนเล็ก ที่ไม่สามารถหล่อเลี้ยงบริษัทได้ ต่างจากบริษัทใหญ่ที่มีแต้มต่อในการกู้เงิน ทางที่ดีรัฐบาลและแบงค์ชาติ ควรประเมินและมีการจัดสรรงบประมาณใหม่ในการช่วยเหลือกลุ่มต่างๆให้เป็นธรรม ไม่บิดเบี้ยว และละไม่ลำเอียงอย่างที่เป็นอยู่” น.ส.ณธีภัสร์ กล่าว 

น.ส.ณธีภัสร์ เสนอให้กลุ่มทุนใหญ่ที่ดูแลตัวเองประกาศว่าจะไม่ขอใช้ประโยชน์จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้วงเงินไม่ต้องใช้ ถึง 4 แสนล้านบาท และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย นำกลับไปปรับวงเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SME ได้เพิ่มเติม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการตามพ.ร.ก.มีอำนาจมาก ส่วนใหญ่มาจากธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลัง แม้จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่อาจถูกครอบงำหรือสั่งการได้ อีกทั้งอำนาจหน้าที่ยังล้นฟ้าสามารถพิจารณาให้บริษัทที่ไม่สามารถระดมทุนได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ได้รับสิทธิ์ได้ซึ่งไม่ส่งผลดี 

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปข้อเสนอแนะการอภิปราย ประกอบการลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นการกู้เงินโดยตรง 1 ล้านล้านบาท และอีก 900,000 ล้านบาท เป็นสภาพคล่อง แต่ถือเป็นเงินที่ประชาชนต้องรับผิดชอบด้วยทั้งหมด จึงเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนควรจะรู้ 

“นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวซีพียังบอกว่าจำเป็นต้องกู้ 3 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ แต่หากกู้มาแล้วเจ๊ง ก็ไม่ต้องกู้ หรือกู้แค่ 600,000 ล้านบาท เพื่อการเยียวยา นอกนั้นให้เป็นไปตามงบประมาณปกติ แต่หากรัฐบาลยังสับสน ไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัด สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับการบินไทย รวมถึงไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้จากแหล่งเงินที่ใด หากจะกู้ IMF หรือ World Bank ก็เสี่ยงเกิดการแทรกแซงกำกับประเทศ แต่ก็เป็นไปได้ยากที่จะสามารถกู้ได้ หากระบบตรวจสอบภายในยังเป็นแบบนี้” นายสุทิน กล่าว

“โควิด-19 โจมตีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ไม่ใช่เฉพาะแนวรบด้านสุขภาพเท่านั้น แต่กระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมด้วย แต่รัฐบาลประมาท หลงตัวเองว่าควบคุมได้ จึงมีความเสี่ยงหากมีการระบาดรอบ 2  ซึ่งในหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และไม่กู้เงิน ส่วนสาเหตุที่หลายประเทศแถบอาเซียนสามารถควบคุมการระบาดได้ดี เพราะภูมิอากาศร้อน ควบคุมการระบาดได้ง่าย แต่ต้องรับมือหากระบาดอีกในหน้าหนาวจะเอาอยู่หรือไม่ ขณะที่หมอและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำงานได้ดี แต่อย่าตกไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาล” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศเหมือนคนป่วยโรคเบาหวานที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นหมอรักษา ให้ยาโดยการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดเมือง จนได้ผลน้ำตาลลดลง แต่กลับเกิดผลข้างเคียงที่ไต คือระบบเศรษฐกิจพังทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ถูกต้องแล้วที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเยียวยาให้คนรอดตายก่อน แต่เกิดปัญหาเยียวยามาครอบคลุม ไม่ทันเวลา ล้มเหลว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่สามารถทำให้ดีได้ ขณะเดียวกันไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ส่วนหนี้สาธารณะวันที่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่ปี 2564 หนี้สาธารณะจะถึงร้อยละ 57 ของ GDP เป็นการกู้เงินจนเต็มโควตา ไม่เหลือให้รัฐบาลต่อไป ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวเริ่มมีความเคลื่อนไหวเอาเงินไปฝากธนาคารไว้ถึง 800,000 ล้านบาทแล้ว

“เรื่องการตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท นายกรัฐมนตรียังใช้วิธีคิดแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นการอบรมสัมมนาภาคการเกษตร จึงขอให้นำงบประมาณไปพัฒนาแห่งน้ำ สร้างการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้ถูกทิศ คิดให้ถูกทาง ถ้าใช้เกษตรอัจฉริยะก็แค่ครอบคลุมไม่กี่กลุ่ม กล้าหรือไม่ ที่จะใช้งบ 7 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะไม่เชื่อว่าการอบรมจะทำให้ภาคการเกษตรแข็งแกร่งจริง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เมื่อประชาชนไม่มีเงิน ก็ไม่มีอารมณ์ไปเที่ยว เกิดเป็นปัญหา สุดท้ายงบประมาณส่วนนี้จะล้มเหลวอีก ขณะที่งบฟื้นฟูด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการแพทย์ได้” นายสุทิน กล่าว

นายสุทินกล่าวถึงการช่วยเหลือ SME ว่า มาตรการทำให้ช่วยเหลือรายใหญ่จำนวนมาก รายเล็กตกไป และมีข่าวว่ากลุ่มทุนจีนสามารถเข้าถึงได้ด้วย ยิ่งถ้าประเทศไทยเข้าสู่การเป็น CPTPP อีก ยิ่งตายสนิท เพราะจะไม่เหลือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจไว้เลย ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่มีสิทธิ์เอามาปลูกใหม่ รัฐวิสาหกิจในประเทศเปิดช่องให้ต่างชาติมาถือหุ้นได้ โดยกลุ่ม SME แห่มาหาตนเองที่พรรคเพื่อไทย มาปรับทุกข์ขอให้ออกกฎหมายตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะองค์กรไม่แข็งแรงไม่มีอำนาจต่อรอง รวมตัวกันไม่ติด จึงมีการเสนอต่อสภาแล้ว เป็นเรื่องที่รออยู่ในวาระ

สำหรับการออก พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้จากภาคเอกชน นายสุทิน อภิปรายว่า การใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายก็มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยสร้างเคยตั้งกองทุนไปซื้อหนี้เสียจากบริษัทเอกชนจนต้องขายหนี้เสียราคาต่ำในที่สุดประเทศ เป็นหนี้ 8 แสนล้านบาทจนวันนี้ แล้ววันนี้จะไปซื้อหุ้นกู้เอกชน 

“ถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งมีเหตุผลว่าตลาดทุนพวกนี้มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท แต่มองว่าหลายบริษัทใหญ่ ๆ สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่จน มีสินทรัพย์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รายงานสํานักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่ามีทุนใหญ่ของไทยระดมเงินฝากร่วม 800,000 ล้านบาท แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่าไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ทันเขา และกำลังจะสร้างตำนานล้มบนฟูกอีกรอบ แกล้งจน แกล้งไม่มีใช้ แกล้งล้มละลาย แล้วให้คนอื่นไปใช้หนี้แทน แล้วตัวเองก็หอบทรัพย์ออกไป จึงมองว่าแบงค์ชาติต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่จำเป็นอย่าลงไปทำเอง” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน กล่าวว่า การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อยู่ที่เป้าหมายของรัฐบาล หากอยากให้วงล้อทางเศรษฐกิจหมุนสามารถทำได้โดยการลงเม็ดเงินในระบบ แต่ถ้าวงล้อเศรษฐกิจไม่หมุน ทุกอย่างจะตีกลับ กลายเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นทันที หนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 70 ของ GDP พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยโลกเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีเรื่องให้ต้องบ่นกันอยู่ การปฏิรูปที่สำคัญคือระบบราชการและจะลองรับ New Normal ได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ สุดท้ายจะเป็นการใช้ชาวบ้านคนจนเป็นที่ผ่านเงินเท่านั้น 

“รัฐบาลต้องการแค่รอบหมุนทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นอะไรที่ใจร้ายมาก เพราะเงินกู้นี้สุดท้ายจะไม่ฟูและเป็นหนี้ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะหนีก่อนที่จะเศรษฐกิจจะล้มต่อหน้า และให้คนอื่นมาอุ้มศพต่อ ประเทศต้องรับกรรมรับผิดชอบ ชาวบ้าน 70 ล้านกว่าคนต้องมาใช้หนี้ มาตรการทุกอย่างจะรีดเงินถึงชาวบ้านหมด” นายสุทิน กล่าว

สำหรับการตรวจสอบ นายสุทิน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้มีปัญหา โดยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการปฏิบัติจัดซื้อจัดจ้าง ไปแก้ระเบียบปกติ ว่าไม่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างระบบ E-Bidding ไปตลอดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนการเปิดทางให้มีการทุจริต จึงควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาตรวจสอบ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเงียบ มีเพียงเงื่อนไขให้รายงานต่อสภาฯ ปีละครั้งเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตปัญหาการใช้กองทุนประกันสังคม ที่ประชาชนฝากไว้ แต่ยังไม่สามรถนำเงินออกมาใช้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน ในวันสุดท้ายเวลา 13.09 น. ก่อนลงมติ โดยนายกรัฐมนตรีโบกมือทักทายสื่อมวลชน แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ และได้ขึ้นห้องประชุมทันที ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมการประชุมสภาในเวลาไล่เลี่ยกับนายกรัฐมนตรี โดยขึ้นลิฟท์จากลานจอดรถไปยังห้องประชุมทันที.-สำนักข่าวไทย   

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โผ ครม. “เศรษฐา 2” ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้

โผ ครม. เศรษฐา 2 ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ พปชร. ยึด ก.เกษตรฯ ด้าน “สุชาติ” นั่ง รมช.พาณิชย์ พร้อมทาบ “พวงเพ็ชร” ที่ปรึกษานายกฯ โค้งสุดท้ายสลับ “สุดาวรรณ” นั่ง ก.วัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” ไป ก.ท่องเที่ยวฯ

รวบ 2 ใน 4 อุ้มฆ่าหนุ่มไทใหญ่ทิ้งป่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

รวบแล้ว 2 ใน 4 ผู้ต้องหาอุ้มฆ่า “จ๋อมวัน” หนุ่มไทใหญ่ ก่อนนำศพไปทิ้งในป่าที่ จ.เชียงใหม่ ปมสังหารอ้างไม่พอใจถูกแซวเรื่องหญิงคนสนิท

มหาวิทยาลัยแจงเหตุ นศ.สาวปี 3 แทงแฟน นศ.ปี 1 สาหัส

มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนักศึกษาหญิงทำร้ายนักศึกษาชาย ในหอพักจนบาดเจ็บสาหัส ด้านตำรวจยืนยันนักศึกษาหญิงที่ก่อเหตุมอบตัวแล้ว ยอมรับเป็นแฟนและทะเลาะกัน

รวบผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพที่นนทบุรี นำตัวเข้าเซฟเฮาส์

รวบตัวชายไทย อายุประมาณ 35-40 ปี ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพ ภายในซอยจัดสรรสวิง 2 ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตำรวจนำตัวเข้าเซฟเฮาส์ อยู่ระหว่างสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน

ข่าวแนะนำ

ทหารอเมริกันยกพลเที่ยวเมืองพัทยาเงินสะพัด

พัทยาช่วงนี้คึกคัก เพราะทหารอเมริกันยกพลขึ้นบก บุกพัทยากว่า 6,000 คน ผู้ประกอบการยิ้มรับ คาดเงินสะพัดจำนวนมาก

จนท.นำหุ่นยนต์ 4 ขา ช่วยตรวจจับความร้อน

เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บขยะเคมีอันตราย จ.ระยอง ก่อนที่ นายกฯ จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บ่ายวันนี้ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนยังคงระดมกำลังหล่อเย็นพื้นที่โรงงาน ด้านตำรวจพิสูจน์หลักฐาน นำหุ่นยนต์โรบอท 4 ขา ช่วยตรวจจับสัญญาณความร้อน

“เศรษฐา” ลงพื้นที่สวนทุเรียน สั่งกรมชลแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน

“เศรษฐา”ลงพื้นที่ สวนทุเรียน สั่งกรมชลประทานแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน – หาพื้นที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอ – ทำ One Stop Service ก่อนชิมทุเรียนหลากหลายพันธุ์

โผ ครม. “เศรษฐา 2” ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้

โผ ครม. เศรษฐา 2 ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ พปชร. ยึด ก.เกษตรฯ ด้าน “สุชาติ” นั่ง รมช.พาณิชย์ พร้อมทาบ “พวงเพ็ชร” ที่ปรึกษานายกฯ โค้งสุดท้ายสลับ “สุดาวรรณ” นั่ง ก.วัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” ไป ก.ท่องเที่ยวฯ