สบส.29 พ.ค.-กรม สบส.จับมือ รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ร่วมออกแบบและจัดทำนวัตกรรมโครงครอบกระชับหน้ากากอนามัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บุคลากรทางการแพทย์เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่ชุดป้องกัน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ป้องกันต้องมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ต้องแนบสนิทเพื่อป้องกันฝอยละออง น้ำมูก น้ำลาย
ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จัดทำนวัตกรรมโครงครอบกระชับหน้ากากอนามัย (Face Mark Fitter) ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางแพทย์ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้มีความกระชับกับใบหน้า ป้องกันฝอยละออง ได้แนบสนิท ซึ่งมีข้อดีหลายประการ ทั้งสะดวก สวมใส่ง่าย ถอดออกได้ง่าย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง
นายสมชาย อินทร์เนียม ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงครอบกระชับหน้ากากอนามัย (Face Mark Filter) มีขั้นตอนในการทำที่ไม่ยุ่งยาก โดยการถ่ายภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้วยมือถือ iPhone 10 ขึ้นไป จากนั้นนำมาลงโปรแกรมBellus3D จัดวางให้เรียบร้อย นำมาขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้พลาสติกชนิด PLA และขัดโครงให้เรียบ โดยโครงครอบกระชับหน้ากากอนามัยจะมีลักษณะเฉพาะเป็นของบุคคลส่วนตัวไม่สามารถใช้ร่วมกับบุคคลอื่นได้ และมีสัญลักษณ์สลักอยู่ที่โครงครอบกระชับหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดให้สะอาด โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯฝ่ายประถม ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิต
ขณะนี้ได้ผลิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ รพ.ยะลา รพ.ปัตตานี และ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ชิ้นแล้ว จากผลการทดสอบพบว่าบุคลากรทางการแพทย์พึงพอใจ สามารถสวมหน้ากากอนามัย โดยใช้โครงครอบกระชับหน้ากากอนามัยได้อย่างมั่นใจ
ทั้งนี้ กรมสบส.ได้มีการประสานวิศวกรอาสา และเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีเครื่องพิมพ์สามมิติ มาช่วยเหลือในการผลิตโครงครอบกระชับหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบของการผลิตให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นในอนาคตต่อไป
โรงพยาบาลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่สนใจ สอบถามได้ที่กลุ่มมาตรฐานด้านวิศวกรรมการแพทย์และสาธารณสุข 2 กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร 02 149 5680-91 ต่อ 1340,1342 ในวันและเวลาราชการ .-สำนักข่าวไทย