กทม. 25 พ.ค. – เป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับการการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบ mRNA ของศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งฉีดทดลองในลิงเข็มแรกไปแล้ว วันนี้สำนักข่าวไทยพาไปเจาะข้อมูลและทำความรู้จักกับวัคซีนชนิดนี้ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ของโลก
นี่เป็นวัคซีนต้นแบบป้องกันโควิด-19 แบบ mRNA ที่นักวิทยาศาสตร์ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ วิจัย และพัฒนาตั้งแต่เดือนมกราคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ถือเป็นเทคโนโลยีผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่ไทยไม่เคยใช้มาก่อน
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ อธิบายว่า การพัฒนาวัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่เรียกว่า Messenger RNA ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดโรค ตัวไวรัสโควิด-19 มีลักษณะกลม และมีก้านเหมือนเข็มหมุดปักอยู่จนทั่ว จึงเลือกใช้บริเวณเข็มหมุดยื่นออกมา เพราะพบว่ามีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เห็นได้จากการทดสอบในหนูที่พบผลเป็นที่น่าพอใจ จนสามารถนำวัคซีนตัวเดียวกันนี้ไปทดสอบในลิงได้
มีข้อมูลว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กว่า 200 แบบ ในเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป เช่น เทคโนโลยีเชื้อตาย เชื้อตัวเป็นอ่อนฤทธิ์ ชิ้นส่วนแอนติเจนของเชื้อ และสารพันธุกรรมของเชื้อ ส่วนในไทยขณะนี้มีโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 5 โครงการ อย่างที่ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ดำเนินการทั้งหมด 3 แบบ คือ DNA, mRNA และโปรตีน โดยที่ได้ผลดีในหนูคือ แบบ DNA และ mRNA แต่ที่เลือกนำมาทดสอบในลิงคือ แบบ mRNA
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ให้เหตุผลที่เลือกวัคซีนโควิด-19 แบบ mRNA ไปทดสอบในลิง แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพราะเมื่อศึกษาข้อมูลทางวิชาการพบว่าวัคซีนแบบ DNA แม้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูได้ดี แต่ผลทดสอบในลิงและคนอาจไม่เป็นเช่นนั้น อีกทั้งการฉีดวัคซีนต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ และต้องใช้ปริมาณโดสสูงกว่าวัคซีนชนิด mRNA หลายเท่าตัว
การตัดสินใจเดินหน้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบ mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ล่าสุดของการผลิตวัคซีน ทั่วโลกจึงมีโรงงานที่ผลิตโดยเทคโนโลยี้นี้มีไม่เกิน 7 แห่ง ทำให้ขณะนี้ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ จองโรงงานขนาดเล็กที่สหรัฐ และเยอรมนี เพื่อผลิตวัคซีน 10,000 โดส เพื่อเตรียมนำไปทดสอบในคน 3 ระยะ ทั้งนี้ยังมีความร่วมมือกับโรงงานผลิตวัคซีนของเอกชน ที่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบ mRNA ไว้แล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนการที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนให้คนไทยหลายล้านคนได้ในปลายปี 2564
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้การวิจัยและพัฒนาโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง กว่าจะเห็นผลสำเร็จ แต่เพราะไม่สามารถรอซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ที่แม้ผลิตได้แล้วก็ต้องเลือกกระจายให้คนในประเทศตัวเองได้ใช้ก่อน. – สำนักข่าวไทย