ก.แรงงาน 25 พ.ค.- กพร. ปรับแผนฝึก 6 โครงการ เพื่อฟื้นฟูอาชีพให้กับแรงงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมจัดเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลือระหว่างฝึก เริ่มดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง ว่างงาน กพร.จึงปรับแผนการฝึกภายใต้โครงการตามภารกิจปกติที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 6 โครงการ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพแก่แรงงานในสถานประกอบกิจการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยจัดฝึกยกระดับฝีมือ ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 18-30 ชั่วโมง (3-5 วัน) พร้อมมีค่าอาหารให้กับผู้เข้าฝึกอบรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเวลานี้ด้วย
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมที่จะดำเนินการทั้ง 6 โครงการนี้ มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ) ทั่วประเทศ ดำเนินการได้ทันที ซึ่งได้ปรับให้การฝึกอบรม นอกจากเพิ่มเติมทักษะฝีมือเพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือพัฒนาการทำงาน ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในระหว่างฝึกอบรมอีกด้วย โดยหลักสูตรที่จัดอบรม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษาจีนกลางเพื่อการบริการในโรงแรม เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ พนักงานขับรถยกสินค้า และการใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ผู้เข้าอบรมต้องมีพื้นฐานในสาขาที่ฝึกอบรมด้วย
จากรายงานพบว่าสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี เริ่มดำเนิน การฝึกแล้วในสาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับพนักงานโรงแรม ผู้เข้าอบรมเป็นพนักงานบ้านสวนคุณตา กอล์ฟ แอนด์รีสอร์ท และโรงแรมเป็นตาฮัก รวมจำนวน 20 คน ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้มาใช้บริการน้อยมาก พนักงานมีเวลาว่างมากขึ้น ผู้บริหารจึงใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้พนักงานเข้าฝึกอบรมภาษาอังกฤษ เตรียมพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
อีกจังหวัดคือ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตราด จัดอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเช่นกัน ผู้เข้าฝึกอบรมมีทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขายในเขตพื้นที่รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พนักงานโรงแรม ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวม 20 คน และด้วย จ.ตราด เป็นจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีการลงทุนตามโครงการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้น ทักษะภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าว
นายวชิระศักดิ์ แสนยบุตร (เอ) อายุ 41 ปี พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด เล่าว่า ทำงานในตำแหน่ง Front Office Manager ปัจจุบันโรงแรมหยุดให้บริการชั่วคราว พนักงานต้องกลับภูมิลำเนาและหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ในช่วงว่างงาน การเข้าฝึกอบรมภาษาอังกฤษในครั้งนี้เป็นการทบทวนความรู้และเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ได้ใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมให้ตนเองในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเมื่อโรงแรมเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากเบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกอบรมมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย