กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – ไทยออยล์รีดไขมันกว่า 2 พันล้านบาท ปรับประสิทธิภาพกว่าวิกฤติ ย้ำมีโอกาสดี JET ต้นทุนต่ำเริ่มทยอยขายหลังคลายล็อกดาวน์
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก กระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นฯ รุนแรงที่สุด เพราะการหยุดเดินทางหรือล็อกดาวน์ ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เริ่มดีขึ้น ราคาน้ำมันฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 เดือน แต่จากราคาที่ตกต่ำสุดในเดือนเมษายน ไทยออยล์ก็ยังไม่แน่ใจว่าไตรมาส 2 จะขาดทุนสตอกอีกหรือไม่ หลังจากไตรมาส 1 ขาดทุนสตอกถึง 10,772 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้บริหารงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น ลดค่าใช้จ่ายทั่วไปประมาณ 20-25% จากปกติส่วนนี้มีประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี หรือลดประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท ลดกำลังกลั่นเดือนเมษายนลงบ้าง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาด แต่ไตรมาส 1/2563 ยังคงมีกำลังกลั่นเฉลี่ย 111% จากกำลังกลั่นของไทยออยล์ 275,000 บาร์เรล/วัน ปรับเปลี่ยนการผลิตน้ำมันเครื่องบิน ( JET) ที่เป็นสัดส่วนผลิต 20% ของกำลังผลิต โดยปรับมาผลิตเป็นดีเซลประมาณครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งยังผลิตJET เนื่องจากไทยออยล์มีถังจึงเก็บไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งขณะนี้เริ่มขายได้ เพราะคลายล็อกดาวน์ และมีการส่งออกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากที่ราคาน้ำมันตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ส่วนต่างราคาปิโตรเคมี “พาราไซลีน” ของบริษัทดีขึ้น
“ธุรกิจการกลั่น ไตรมาส 2/2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 แต่จะไม่ขาดทุนสตอกอีกหรือไม่นั้น ก็กำลังตามดู แต่หากมีก็คงน้อยลง โดยจากอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดจากโควิด-19 ทำให้ซาอุดีอาระเบียคงนโยบายการลดราคาน้ำมันดิบที่ส่งออกมายังเอเชีย ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นได้รับประโยชน์ ส่วนในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ธุรกิจการกลั่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และตลาดจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก” นายวิรัตน์ กล่าว
สำหรับสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัสปิดตลาดวันพฤหัสบดี (21 พ.ค.) ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของสตอกน้ำมันดิบสหรัฐ การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) รวมทั้งอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลต่าง ๆ พากันผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิถุนายน ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 43 เซนต์ หรือ 1.28% ปิดที่ราคา 33.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.87% ปิดที่ 36.06 ดอลลาร์/บาร์เรล
บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (63-67) เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 3,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการขยายกำลังการกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรล/วัน และเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น โดยมีเป้าหมายเสร็จไตรมาส 1/2566
ส่วนเงินลงทุนที่เหลือ 223 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงหนว่ยผลิตต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency) ,ต่อเนื่อง (Reliability) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตลอดจนโครงการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค และการลงทุนอื่น ๆ เช่น โครงการ Digital Transformation โดยมีงบประมาณลงทุนเฉพาะปี 2563 รวมทั้งสิ้น 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท หลังราคาน้ำมันดิบปรับลงแรงในช่วงสิ้นไตรมาส 1/2563 เฉลี่ยที่ 33.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากราคาปิดสิ้นไตรมาส 4/2562 ที่อยู่ระดับ 64.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้มีขาดทุนจากสตอกน้ำมันสูงถึง 10,772 ล้านบาท
สำหรับตลาดสารพาราไซลีนในช่วงไตรมาส 2/2563 คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่อ่อนตัวลงอย่างมากตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในช่วงฤดูร้อนของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียที่จะนำสารพาราไซลีนไปใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำในการผลิตขวดน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม อุปสงค์การบริโภคของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างเสื้อผ้าในภูมิภาคเอเชียคาดว่ายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับกำลังการผลิตของโรงผลิตสารพาราไซลีนในประเทศจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีอุปทานออกมากดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย