กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – คมนาคมเร่งผู้บริหารการบินไทยทำข้อมูลแผนฟื้นฟูกิจการ และรายชื่อผู้จัดทำแผนก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า รวมถึงการจัดทำบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ให้ครบถ้วน
สำหรับความคืบหน้าการทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอรายชื่อผู้ทำแผน 15 คน ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ขณะเดียวกันวันนี้ (21 พ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารการบินไทยจัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง โดยให้เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 26 พฤษภาคมนี้ โดยข้อมูลทั้งหมดจะครอบคลุมการจัดทำบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน จัดทำร่างเงื่อนไขจัดจ้างที่ปรึกษาการเงินและกฎหมาย รายชื่อบุคคลที่จะเป็นคณะทำงานจัดทำแผนฟื้นฟู และรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟู ส่วนรายชื่อให้มีการเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาวันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้าย
สำหรับข้อมูลทางบัญชีของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 ในรายงานประจำปีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน 103 ลำ แบ่งเป็นของบริษัท 32 ลำ เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน จำนวน 32 ลำ และเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน จำนวน 39 ลำ ขณะที่ในจำนวน 103 ลำดังกล่าวมีเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน 34 ลำ แบ่งเป็นของบริษัท 2 ลำ มูลค่าทางบัญชี 4,400 ล้านบาท และเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงินอีก 32 ลำ มูลค่าทางบัญชี 98,800 ล้านบาท มีภาระผูกพันภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน โดยใช้เครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ขณะที่ตัวเลขที่เกี่ยวกับหนี้สินการบินไทยเมื่อรวมหนี้สินสัญญาเช่าทางการเงินตราสารหนี้ หนี้สินระยะยาว หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน รวม 244,899.4 ล้านบาท ส่วนภาระการเช่าเครื่องบินที่มีรายงานข่าวระบุว่าบริษัท แอร์บัส ยื่นโนติสให้การบินไทยเตรียมชำระหนี้ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ล่าสุดฝ่ายบริหารการบินไทยเตรียมสรุปตัวเลขรายงานกระทรวงคมนาคมทราบ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวเลขที่ถูกระบุว่าเป็นหนี้ที่เกียวกับการเช่าเครื่องบินที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขทางบัญชี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาและการบินไทยไม่ได้มีการเช่าเครื่องต่อ มีการส่งมอบเครื่องคืน ตัวเลขก็จะถูกตัดมูลค่าทางบัญชีออกไป
ทั้งนี้ ในอดีตการเช่าเครื่องบินของการบินไทยที่ก่อหนี้ผูกพันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาเงินกู้ผูกพันการกู้ผ่านสถาบันการเงินต่างประเทศ เพื่อนำเงินไปชำระค่าเช่า และอีกส่วนเป็นการเช่าโดยตรงของการบินไทยไปยังบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน ซึ่งวงเงินทั้ง 2 ส่วนมียอดกว่า 100,000 ล้านบาท
มีรายงานข่าวระบุว่าวันนี้คณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ที่มีนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งรับมอบจากนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาอนุมัติเข้าซื้อหุ้นการบินไทยตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมผ่านมา.-สำนักข่าวไทย