สจล.20 พ.ค.-สจล.มอบรถเข็นขายอาหารริมทาง 7 คัน นวัตกรรมใหม่ตามมาตรฐานสุขอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 กลุ่มแรก
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบนวัตกรรมรถเข็นขายอาหารริมทาง ภายในงาน “KMITL Street Food Academy 2020”ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และกล่าวว่าการพัฒนานวัตกรรมรถเข็นสตรีทฟู้ดครั้งนี้ สจล.ยึดหลักการจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขอนามัยตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการอาหารริมทางได้รับผลกระทบ นวัตกรรมนี้ช่วยให้การจำหน่ายอาหารริมทางสามารถดำเนินไปได้ ทั้งปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในรถคันนี้มีปลั๊กเสียบไฟฟ้า, ซิงค์น้ำที่มีตัวกรองดักไขมัน ,จ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด ฯลฯ สามารถนำเป็นต้นแบบของ รถจำหน่ายอาหารสตรีทฟู้ดยุค New Normal โดยแท้จริง
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยแนวโน้มดีขึ้น จนมีการประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้แก่ธุรกิจสีขาว ได้แก่ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านอาหารในที่โล่งแจ้ง และร้านอาหารริมทาง Street Food ให้เปิดกิจการได้ภายใต้การบริหารจัดการตามมาตรฐานสาธารณสุข สจล.จึงเปิดตัว“ศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้การจัดการมาตรฐานร้านสตรีทฟู้ด”(Street Food Academy) ผ่านรูปแบบการอบรมออนไลน์ โดยผู้ขายอาหารริมทางที่ผ่านอบรมและสามารถจัดการร้าน อาหารริมทางได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานจะได้รับใบรับรองจากสถาบันเพื่อรับประกันร้านอาหารที่ได้มาตรฐานความสะอาด อร่อย และดีต่อสุขภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค
ขณะที่ ผศ.นภัสรพี เหลืองสกุล หัวหน้าศูนย์ฟู้ดอินโนโพลิส สจล.กล่าวว่า ครั้งนี้นำร่องแจกให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 7 คัน ที่ผ่านเกณฑ์ 4 ข้อ 1.ผู้ที่ว่างงานหรือเคยมีอาชีพขายอาหารริมทาง แต่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 2. ผู้ต้องการต่อยอดธุรกิจร้านอาหารริมทางในกลุ่มอาหารประเภทปิ้งย่าง เครื่องดื่ม ผลไม้สด 3.มีความเชื่อว่าอาหารริมทางต้อง อร่อย สะอาด ปลอดภัย ไม่ต่างกับอาหารโรงแรม 5 ดาวแต่ราคาเข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป และ4.สามารถอธิบายแนวทาง การประกอบกิจการที่น่าสนใจ พร้อมแนวคิดการขายของที่ช่วยสังคมได้ในช่วงการแพร่ ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่เก็บรักษาได้นาน คือข้าวเหนียวไก่ย่าง บะจ่างไก่ ข้าวต้มมัดไส้ไก่ จำนวน 1,000 ชุด เพื่อแจกให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านรายได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
บรรยากาศภายในงาน ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนา “New Normal กับการขาย–เลือกซื้ออาหารสตรีทฟู้ดสุดปลอดภัย ในช่วงคลายมาตรการล็อกดาวน์” โดยนักวิชาการด้านโภชนาการ บุคคลในวงการอาหารสตรีทฟู้ดของเมืองไทย
พร้อมจำลองตลาดอาหารสตรีทฟู้ดที่มีมาตรการควบคุมสุขลักษณะผู้ซื้อ-ผู้ขายแบบ New Normal ทั้งการคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด การเว้นระยะห่างขณะเข้าคิว การจัดโซนรับประทานอาหารโดยมีฉากกั้น ตลอดจนการจ่ายเงินผ่านระบบสแกนคิวอาร์โค้ด .-สำนักข่าวไทย