กรุงเทพฯ 19 พ.ค. – “ศักดิ์สยาม” แจง 10 ขั้นตอน แผนฟื้นฟูการบินไทย มั่นใจสัปดาห์หน้าเสนอ 15 รายชื่อผู้บริหารแผนฯ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมแถลงแนวทางการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย
นายศักดิ์สยาม ระบุว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (19 พ.ค.) เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทยตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเป็นทางเลือกที่ 3 โดยให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการผ่านพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพื่อแก้ฐานะของการบินไทยที่ขณะนี้อยู่ในสภาพวิกฤติหนี้สินล้นพ้นตัว โดยพบว่าสิ้นปี 2562 การบินไทยมีหนี้กว่า 147,000 ล้านบาท และประมาณการณ์ว่าสิ้นปี 2563 จะมีหนี้สินมากกว่า 200,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย 10 ขั้นตอนนั้น หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติวันนี้แล้ว ก็จะดำเนินการใน 2 ส่วน โดยกระทรวงการคลังจะดำเนินการขายหุ้นของการบินไทยออกไป เพื่อลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยให้น้อยกว่า 50% ทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจทันที และสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอ 15 รายชื่อ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยจะคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สังคมยอมรับ รวมถึงมีความรู้ความสามารถในธุรกิจการบิน และหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติรายชื่อแล้วก็จะมีการนำรายชื่อเสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาอนุมัติเป็นผู้บริหารแผนต่อไป
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามระบุด้วยว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น จะยึดแนวทางที่เคยดำเนินการในต่างประเทศเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของสายการบินที่เคยประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับมาแล้ว คือ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ หรือ JAL สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ภายในระยะเวลาเพียง 14 เดือน จนสามารถออกจากแผนฟื้นฟูและเป็นสายการบินที่สามารถทำกำไรในปัจจุบัน รวมถึงสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ที่ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการ 3 ปี ก็กลับมาดำเนินการธุรกิจได้ตามปกติ
โดยในส่วนของการบินไทยนั้น นายศักดิ์สยามระบุว่าจะใช้ระยะเวลานำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูไม่เกิน 1 ปี ส่วนการบินไทยจะใช้ระยะเวลาอยู่ในแผนฟื้นฟูกี่ปีนั้น จะต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการบินด้วย
สำหรับสัดส่วนของเจ้าหนี้ของการบินไทยปัจจุบัน พบว่าในจำนวนมูลหนี้กว่า 140,000 ล้านบาท ปลายปีมีสัดส่วนเจ้าหนี้ต่างชาติอยู่ประมาณ 35 % สถาบันการเงินต่างชาติอีก 10 % โดยรวมเบ็ดเสร็จแล้วการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างชาติไม่ถึง 50% โดยในส่วนของเจ้าหนี้ต่างชาติก็ต้องมีการทำการเจรจาและยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ต่างชาติพิจารณาด้วย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยืนยันว่าการเข้าลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทยของ 82 สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 42,000 ล้านบาท หากไม่มีการขอปรับลดหนี้หรือ Hair Cut ก็จะส่งผลกระทบต่อฐานะของสหกรณ์ออมทรัพย์เหล่านี้น้อยมาก .-สำนักข่าวไทย