18 พ.ค. – แม้ตอนนี้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 จะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่รัฐบาลก็สนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายศักยภาพเพิ่มเตียงไอซียู รองรับผู้ป่วยหนักโควิด -19 อีกกว่า 280 เตียง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หากมีการระบาดในระลอก 2 เกิดขึ้น
บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ปทุมธานี สำรวจความพร้อมการขยายเตียงไอซียูโควิดเพิ่มอีก 11 เตียง รวมถึงการวางระบบและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพ และเครื่องควบคุมการไหลของสารน้ำ ที่ถูกนำมาติดตั้งในห้องความดันลบทั้ง 3 ห้อง ซึ่งปรับปรุงมาจากวอร์ดผู้ป่วยสามัญ เร่งก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือนเศษ รวดเร็วกว่าการก่อสร้างในภาวะปกติที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้ทันต่อการรองรับผู้ป่วยหนักโควิด-19 หากมีการแพร่ระบาดระลอก 2 เกิดขึ้น
สำหรับไอซียูส่วนขยายนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลกำลังเร่งจัดสร้าง 2 ไอซียูแรก 16 เตียง ให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนอีก 2 ไอซียู 16 เตียงที่เหลือ จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน
แม้ล่าสุดจะมียอดผู้ป่วยหนักโควิด-19 ที่รักษาอยู่ในไอซียูของโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพียง 12 เตียง แต่ ผอ.ฝ่ายการพยาบาล ก็มองว่ายังไม่สามารถวางใจได้ เพราะหลังมีมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ประชาชนเริ่มการ์ดตก ป้องกันตัวเองน้อยลง มีโอกาสเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้ง
นอกจากขยายเตียงไอซียูแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลที่ต้องทำหน้าที่อยู่ดูแลผู้ป่วยหนักโควิด-19 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งยังมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงขอความช่วยเหลือจากสภาการพยาบาล ที่กำลังเปิดรับอาสาสมัครพยาบาลไอซียูโควิด
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐบาลสนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายศักยภาพเพิ่มเตียงไอซียูรองรับผู้ป่วยหนักโควิดอีกกว่า 280 เตียง แบ่งเป็นในส่วนของโรงพยาบาลสถาบัน 130 เตียง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 89 เตียง และโรงพยาบาลเอกชนอีก 62 เตียง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการมือในทุกช่องทาง หากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดในระลอก 2 .- สำนักข่าวไทย