สธ.15 พ.ค.-สธ.ปรับบริการทางการแพทย์รูปแบบวิถีใหม่ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ส่งยาถึงบ้าน ลดการมาโรงพยาบาล ลดแออัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19
บ่ายวันนี้(15พ.ค.)ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก จึงต้องกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การรักษาระยะห่างในสังคม (Social distancing) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ การเพิ่มระยะห่าง ลดความแออัดที่โรงพยาบาล มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยและจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง และยกระดับคุณภาพบริการ ระบบการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของประเทศ
นายสาธิต กล่าวต่อว่า การให้บริการทางการแพทย์แบบวิถีใหม่ (New Normal of medical Service) มุ่งเน้นการรักษาให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล โดยแยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ดูแลตนเองได้ดี ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ใช้การจัดส่งยาให้ต่อเนื่อง ,กลุ่มที่ต้องการปรึกษาแพทย์ด้วยคำถาม หรือปัญหาเล็กน้อยบางอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ให้บริการ Tele -medicine โดยผ่านระบบการสื่อสาร และกลุ่มสุดท้ายที่มีความจำเป็นต้องมาพบแพทย์โรงพยาบาลจริง รวมทั้งพัฒนา Digital Solution เป็นเครื่องมือให้แพทย์และคนไข้สามารถติดต่อพูดคุยและปรึกษากัน โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้อำนวยความสะดวกในการบริการด้วย
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เกิดการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) คือมีระบบการแบ่งกลุ่มและจัดบริการตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ตามระดับความรุนแรง ความซับซ้อน ความเร็วของการดำเนินโรค , การจัดระบบสนับสนุนการดูแลตนเอง อาทิ ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ความรอบรู้ ด้านสุขภาพ แอปพลิเคชันและสื่อ ระบบติดตามรายบุคคล
ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ ฐานข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกัน, ระบบบริการที่เข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยระบบ IT ลงทะเบียน/นัดหมายล่วงหน้าทางออนไลน์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ drive thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การปรึกษาทางไกล, ระบบการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ , ยกระดับความปลอดภัยด้านการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล ทั้งการจัดสถานที่ อุปกรณ์ป้องกัน ระบบบริการ และความรู้บุคลากร
ด้าน นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.35 ของผู้ป่วยทั้งหมด รวมกลับบ้านสะสม 2,854 ราย ขณะที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย (ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวเฝ้าระวังโรคที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน) ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 115 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.80 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิต 56 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,025 ราย
สำหรับคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศที่ได้ทยอยเดินทางเข้าประเทศนั้น รัฐบาลได้มีมาตรการรองรับโดยให้ทุกคนต้องเข้ารับการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา และหากรายใดป่วยจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นมาตรการป้องกันการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ให้กับคนในประเทศ
การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการสวมหน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และล้างมือบ่อยๆ หากต้องการออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ จะต้องผ่านการคัดกรองที่จุดคัดกรองของสวนสาธารณะทุกครั้ง ไม่ควรรวมกลุ่ม รีบกลับบ้านทันทีเมื่อออกกำลังกายเสร็จ ส่วนผู้ดูแลสวนสาธารณะต้องทำความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวที่มีผู้สัมผัสบ่อย และขอแนะนำประชาชนควรงดออกกำลังกายที่ต้องเล่นเป็นทีม มีการปะทะกัน เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล เนื่องจากอาจเกิดการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ของผู้อื่นทำให้เกิดความเสี่ยงติดโรคได้ .-สำนักข่าวไทย