ทำเนียบฯ 9 พ.ค.-โฆษก ศบค.ย้ำประชาชนและผู้ประกอบการ ยึด 5 มาตรการหลักป้องกันตนเอง หลังตลาดนัดจตุจักรเปิดวันแรก ย้ำทุกคนต้องตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ ว่า วันที่ 8-12 พฤษภาคมนี้ เป็นช่วงการรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจะรวบรวมและซักซ้อมความเข้าใจ ก่อนยกร่างทำความเข้าใจในระยะที่ 2 เช่น อาจมีการหาพื้นที่ทดลองเปิด เพื่อทำการประเมินผลในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 หากผ่าน ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 จะประกาศระยะที่ 2 แต่ระหว่างนี้ ศบค.และภาคเอกชนต้องมาหารือกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหากเปิดแล้ว จะไม่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเราทำได้ดีแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกส่วนให้ความร่วมมืออย่างดีที่สุด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เพิ่มมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก โดยดำเนินการแล้วใน 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. ยะลา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งผู้ที่พบว่าติดเชื้อ รัฐบาลยืนยันให้ความดูแลอย่างดี
เมื่อถามถึงการเปิดตลาดนัดจตุจักรในวันนี้เป็นวันแรก จะมีมาตรการอย่างไร โฆษก ศบค. กล่าวว่า อยากให้ทุกคนได้อ่านประกาศและทำความเข้าใจ ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะปลอดเชื้อปลอดภัย มีทั้งมาตรการควบคุมหลัก มาตรการเสริม และมาตรการของแต่ละหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการมีส่วนสำคัญที่ต้องดูแลตนเอง ส่วนผู้ประกอบกิจการ ควรคำนึงถึงข้อปฎิบัติตามข้อกำหนดในมาตรา 9 ของพระราชกิจจานุเบกษา ที่ระบุถึงมาตรการต่างๆไว้อย่างชัดเจน ในส่วนของการควบคุมดูแล โดยการประชุมเมื่อเช้าได้หารือกันว่าบทบาทหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแลในการลงพื้นที่ตรวจ จะมี 3 มาตรการ คือ มาตรการควบคุมหลัก ที่รับผิดชอบโดย ศูนย์ปฎิบัติการด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยมี 5 ข้อที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ 1.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 2.ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือผ้า 3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 4.ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะและระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดิน อย่างน้อย 1 เมตร และ 5.ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด ซึ่ง ศปม.จะสุ่มตรวจทั่วประเทศ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการเสริมที่เจ้าหน้าที่จะลงไปตรวจเฉพาะกิจการและกิจกรรม เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร รับผิดชอบโดย ศปม.ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยจัดสายตรวจร่วมระหว่างทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรการคัดกรองอาการป่วยของผู้เข้าใช้บริการ ให้ช่างตัดผมสวมหน้ากากป้องกันใบหน้า จัดให้สถานที่ภายในร้านจัดที่ระบายอากาศได้ดี และมาตรการที่มีคู่มือปฏิบัติ เช่น คู่มือปฏิบัติการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขที่จะระบุการตรวจและดำเนินการตรวจตามมาตรการอย่างละเอียด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว ถือเป็นระดับที่ปลอดเชื้อปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงไปตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่าง ๆ สำหรับประชาชนควรนำหลักปฏิบัติทั้ง 5 ข้อ ไปปฏิบัติ คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม การตั้งจุดบริการล้างมือ การทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบสถานที่นั้น ๆ ได้ หากพบเห็นกิจการใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ประชาชนต้องหลีกเลี่ยงการเข้าใช้บริการ
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการตรวจเชื้อพ่อค้า-แม่ค้าที่ขายของอยู่ในตลาดเพื่อความปลอดภัย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทุกคนถือว่ามีความเสี่ยง แต่สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องอยู่ในมาตรการหลัก คือ สวมถุงมือ สวมผ้ากันเปื้อน สวมหมวกคลุมผม ล้างมือ ทำทุกอย่างให้สะอาดถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักและป้องกันตนเอง
“การตรวจเชื้อ ไม่ได้วัดความปลอดภัยของแต่ละคน แต่การป้องกันต่างหากที่มีความสำคัญมากว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และขอฝากให้ทุกคนดูแลสุขภาพในช่วงที่เราจะผ่านระยะที่ 1 ไป ใน 14 วันข้างหน้าเราจะได้เดินทางเปิดพื้นที่กันมากวว่านี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย