สำนักข่าวไทย 9 พ.ค. 63 – กระทรวงศึกษาธิการเผยแนวทางการเปิด-ปิดภาคเรียนในสถานการณ์ฉุกเฉิน “เพิ่ม” เวลาพัก 54 วัน เพื่อเป็นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ COVID-19
ภาคเรียนที่ 1/2563 มีระยะเวลาเปิดภาคเรียน คือ 1 ก.ค. 63 – 13 พ.ย. 63 เป็นจำนวนวันเรียน 93 วัน และปิดภาคเรียน 17 วัน (14-30 พ.ย. 63)
ภาคเรียนที่ 2/2563 จะมีระยะเวลาการเปิดภาคเรียนคือวันที่ 1 ธ.ค. 63 – 9 เม.ย. 64 เป็นจำนวนวันเรียน 88 วัน และปิดภาคเรียน 37 วัน (10 เม.ย. – 16 พ.ค. 64)
ส่วนเวลาที่ขาดไป 12 วันนั้น ให้สถานศึกษาสอนชดเชยเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนครบตามหลักสูตร
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 ครั้งที่ 2 ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.ค. 63 ดังนี้
นโยบายการตัดการศึกษาช่วง COVID-19 คือ
“เพิ่ม” เวลาพัก “ลด” ประเมิน “งด” กิจกรรมที่ไม่จำเป็น
ด้านการออกแบบการเรียนการสอน
80% จะเป็นการเรียนการสอนที่สนับสนุนโดยส่วนกลาง ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนอีก 20% เป็นการเรียนการสอนเพิ่มเติมที่ออกแบบเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ จะพิจาณาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของครูผู้สอนและในโรงเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุน
ด้านกำหนดการเตรียมพร้อมก่อนการเปิดเทอม
วันนี้ – 17 พ.ค. 63 ส่วนกลางเตรียมความพร้อม โดยสำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการจัดการเรียนการสอนของทุกโรงเรียน รวมถึงการจัดทำวีดิทัศน์สื่อการสอนเพิ่มเติมสำหรับ ม.4 – ม.6
18 พ.ค. 63 – 30 มิ.ย. 63 โรงเรียนทดสอบระบบจริง โดยโรงเรียน (ผอ.และครู) ดำเนินการให้นักเรียนทดสอบระบบการเรียนที่บ้าน, ส่วนกลางเปิดรับ Feddback การใช้งานระบบ รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มเติม ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่
1 ก.ค. 63 เปิดเทอม ในกรณีที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จะมีการเรียนรู้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ
1. เรียนรู้หลักผ่าน TV ทุกระบบ (On-Air Education)
2. เรียนรู้เสริมผ่านดิจิทัล (Online Education)
3. เรียนรู้เสริมแบบโต้ตอบ (Interactive Education)
4. เรียนรู้ที่โรงเรียนแบบเป็นกะ (Onsite Education)
การเรียนการสอบแบบผสมผสาน
– เรียนรู้หลักผ่าน TV ทุกระบบ (On-Air Education) 17 ช่อง
– เรียนรู้เสริมผ่านดิจิทัล (Online Education) ด้วยแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ DEEP (Digital Education Excellence Platform) สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจและความสะดวก
– เรียนรู้เสริมแบบโต้ตอบ (Interactive Education) โดยจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เมื่อครูและนักเรียนทุกคนมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และการเชื่อมต่อ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ COVID-19 ของบุคลากรทางการศึกษา และใช้วิกฤติในครั้งนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทย.-สำนักข่าวไทย