กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – กกร.ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้โตติดลบ 3-5% ส่งออกหดตัว 5-10 วอนรัฐผ่อนคลายตามการร้องขอภาคเอกชนที่ขณะนี้ยังได้ตามที่ขอไป 34 ข้อไม่ครบ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.มองว่าจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้นหรือฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะหดตัวน้อยลงจากในช่วงครึ่งปีแรก กกร.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% ดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟประเมินไว้ว่าจะหดตัว 6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มีมาตรการเยียวยาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ด้านการส่งออก กกร.คงคาดการณ์ที่ทำไว้เมื่อเดือนเมษายน คาดว่าการส่งออกปีนี้อาจจะหดตัว -10.0% ถึง -5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0% ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ และภาครัฐทยอยผ่อนปรนการดำเนินกิจการเพิ่มเติมตามลำดับ
“เศรษฐกิจไทยจะไม่กลับมาฟื้นตัวลักษณะรูปกราฟตัว V เพราะการระบาดของโควิด-19 ยังมี ดังนั้น ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงมองในระยะกลางถึงยาว ทั้งนี้ ขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรม เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ควบคุมได้ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมา แต่เป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ปีนี้เศรฐกิจไทยคงไม่โงหัวขึ้น และยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างประเทศด้วยว่าจะดีหรือไม่ และหากวัคซีนสามารถผลิตได้ทันภายในปีนี้ คาดว่าจะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นปีหน้า เพราะเชื่อว่า New Normal ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว” นายสุพันธุ์ กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก บ่งชี้ถึงการหดตัวลงของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแทบทุกด้าน มีเพียงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในหมวดสินค้าไม่จำเป็นที่ยังขยายตัวได้ ขณะที่การส่งออกที่รวมทองคำค่อนข้างทรงตัว และเมื่อมองต่อไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนเมษายน 2563 รุนแรงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เครื่องชี้เศรษฐกิจจะยิ่งสะท้อนภาพการหดตัวที่ลึกขึ้น จากผลกระทบที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งในภาคบริการ ภาคการผลิต รวมทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งมาตรการของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย จนภาครัฐทยอยผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการภายใต้แนวปฏิบัติที่ระมัดระวังโดยคงมาตรการ Social Distancing ไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การประกอบกิจการของภาคธุรกิจบนภาวะปกติใหม่ (New Normal) ยังเต็มไปด้วยความความท้าทาย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจหลักในโลกล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และหลายประเทศสถานการณ์ยังไม่ยุติ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2563 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อการส่งออกและภาคการผลิตในไทย
สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมในกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค” หรือ CPTPP นั้น กกร.มีความเห็นว่าขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเนื้อหา และจุดยืนในการเจรจาครั้งนี้ ว่าประเทศจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้เสนอข้อมูลให้ภาครัฐได้ทราบจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้น โดย กกร.มีคณะทำงานที่มาจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ ส.อ.ท.ที่จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ไป
ทั้งนี้ ตามที่ทาง กกร.ได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านภาษี การเงิน แรงงาน สาธารณูปโภค ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจจากภัย COVID-19 จำนวน 34 มาตรการ ต้องขอบคุณภาครัฐที่เห็นชอบตามข้อเสนอ กกร. แล้ว 11 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 มาตรการ สำหรับมาตรการที่เหลือ ทาง กกร.จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งรัดดำเนินการต่อไป ด้านการเพื่อช่วยเกษตรของไทย กกร. ยินดีที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคช่วยซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้ต่าง ๆ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ว่า ที่ผ่านมาตามที่ภาครัฐอนุญาตให้เปิดเบื้องต้นแล้วนั้น ขณะนี้ทำให้มีการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น ประชาชนเริ่มออกนอกบ้านเล็กน้อย และเร็ว ๆ นี้ คาดว่าประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้รัฐบาลคงมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ก็จะทราบว่าผ่อนคลายกลุ่มธุรกิจใดให้กลับมาเปิดทำธุรกิจได้ เช่น ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงปานกลางจะเปิดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนด้วย ส่วนจะมีการเปิดธุรกิจใดรวมถึงห้างสรรพสินค้าหรือไม่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ผ่านมาได้หารือกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และวันที่ 8 พฤษภาคม ทางกระทรวงสาธารณสุขเชิญผู้ประกอบการแต่ละสมาคมไปหารือถึงมาตรการต่าง ๆ หรือจะมีอะไรเพิ่มเติมอีกและต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศที่จะนำไปปฏิบัติได้
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทางสมาคมฯ ได้ร่วมทำงานกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลังหลายเรื่อง จัดทำมาตรการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 หลายมาตรการ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและส่วนบุคคล ช่วงหลังภาครัฐออกมาตรการสินเชื่อเพิ่มในส่วนภาระของลูกค้าธนาคาร หากยังมีปัญหาสภาพคล่องติดขัด สามารถเลือกที่จะขอผ่อนปรนไม่ชำระเงินต้นได้ หรือใช้มาตรการออกมาหลังสุด คือ สามารถเลือกได้ว่าจะขอไม่ชำระเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยได้นาน 6 เดือน แต่เวลาที่ผ่านไปทางธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินกู้ อย่างไรก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าเงินกู้บางส่วนหากสามารถชำระขั้นต่ำได้ก็ควรพิจารณา อีกส่วนคือ มาตรการสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 500,000 ล้านบาท ขณะนี้ทางธนาคารเริ่มปฏิบัติจริงแล้ว แต่อาจขลุกขลักกับลูกค้าบางรายเกี่ยวกับการที่ข้อกำหนดไม่สอดคล้อง ขณะเดียวกันบางรายหลักประกันน้อยกว่าที่ทางธนาคารต้องการ ดังนั้น สามารถเลือกใช้บริการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.ได้.-สำนักข่าวไทย