สบส.30 เม.ย.-กรม สบส.ชี้บริการฉีดวัคซีน วิตามิน โอโซน ยังไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยยืนยันว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 หาก รพ.เอกชน-คลินิกใด อวดอ้างว่าบริการดังกล่าวช่วยต้านโรคถือว่าโฆษณาเกินจริง มีโทษตามกฎหมายทั้งจำและปรับ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ในปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง แต่ประชาชนบางรายก็อาจยังมีความวิตกกังวล ยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นจังหวัดที่มีการระบาดของโรคยิ่งเกิดความวิตกกังวล อยากหาวิธีการป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรค ทำให้สถานพยาบาลบางแห่งฉวยโอกาสจากความกลัวของประชาชน แอบอ้างหรือทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริการของสถานพยาบาลว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน หรือรักษาอาการของโรคโควิด-19 อาทิ การให้บริการฉีดวัคซีน ฉีดวิตามิน หรือการให้โอโซน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง
อธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อไปว่า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย กรม สบส.จึงประชุมหารือร่วมกับ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแพทยสภา ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีความเห็นตรงกันว่าการให้บริการ ฉีดวัคซีน ฉีดวิตามิน หรือการให้โอโซน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหรือต้านโรคโควิด-19 นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยที่ยืนยันได้แน่ชัด โดยปราศจากข้อโต้เถียงทางการแพทย์ว่าบริการทางการแพทย์ในลักษณะดังกล่าวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการรับบริการเพราะอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ และการที่สถานพยาบาลชักชวนให้ประชาชนรับบริการโดยอ้างว่าสามารถป้องกันโรคได้นั้นยังถือว่าเป็นการโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริงอีกด้วย
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับโทษของผู้ที่กระทำการโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริงหรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา
“ต้องขอเน้นย้ำกับประชาชนว่าการรับบริการทางการแพทย์ประเภทใดก็ตามต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าด่วนตัดสินใจด้วยคำโฆษณา หรือคำบอกเล่าจากบุคคลอื่น เพราะหากได้รับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน นอกจากเป็นอันตรายต่อร่างกาย ยังเป็นการเสียทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น อย่างกรณีข้างต้นเพียงประชาชนใส่ใจต่อพฤติกรรมสุขภาพ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออกจากที่พัก และล้างมือให้บ่อย ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์สินแต่อย่างใด” รองอธิบดีกรม สบส.กล่าว .-สำนักข่าวไทย