กทม. 27 เม.ย. – ที่ประชุม ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้มาครบ 1 เดือน รวมถึงได้พิจารณาแนวทางการผ่อนคลายมาตรการผ่อนปรน
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานผลสัมฤทธิ์การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ครบ 1 เดือน การดำเนินงานถือว่ามีประสิทธิภาพ ที่สำคัญตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม แต่คง 4 มาตรการเดิมไว้ คือ
1.คุมเข้มการเข้า-ออกราชอาณาจักร
2.คงเคอร์ฟิว เวลา 22.00-04.00 น.
3.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
4.งดกิจกรรมการคนหมู่มาก ทั้งการประชุม อบรม สัมมนา ประชุมใหญ่ต่าง ๆ
คำถามที่ตามมาเมื่อตัวเลขผู้ป่วยลดลง มาตรการการผ่อนปรนจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์สถานการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมไว้ 3 กรณี คือ หากควบคุมได้ดี จะเกิดผู้ป่วยใหม่ 15-30 รายต่อวัน รวม 3 เดือน 1,889 ราย กรณีควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เปิดธุรกิจที่บางประเภท อาจเกิดผู้ป่วยใหม่ 40-70 รายต่อวัน รวม 3 เดือน 4,661 ราย และกรณีควบคุมได้ยาก เช่น เปิดสนามมวยและสถานบันเทิง อาจพบผู้ป่วยใหม่ 500- 2,000 รายต่อวัน 3 เดือน จะมีผู้ป่วยใหม่สูงถึง 46,596 ราย
ขณะเดียวกันมีข้อเสนอการผ่อนปรนที่มาจากฝั่งเอกชนผ่านสภาพัฒน์ ให้แบ่งระดับความเสี่ยงเป็นกลุ่มสี คือ
สีขาว เป็นกิจการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขนาดเล็ก ร้านค้าออนไลน์ หาบเร่ แผงลอย
สีเขียว สถานประกอบการขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่มาก กำหนดมาตรการควบคุม สวนสาธารณะ ลานกีฬากลางแจ้ง
สีเหลือง เป็นกิจการที่มีพื้นที่ปิด มีคนใช้บริการจำนวนมากอย่างตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม คลินิกเสริมความงาม สระว่ายน้ำ สำหรับกิจการ
สีแดง เป็นกิจการทีมีความเสี่ยงสูง เช่น สนามมวย สถานบันเทิง
ข้อเสนอเหล่านี้ สมช.และสภาพัฒน์ ได้หารือร่วมกันอีกครั้ง และมีรายงานว่าอาจจะเปิดตลาดนัด ร้านตัดผม ร้านอาหารที่ต้องไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านตัดแต่งขนสัตว์ สวนสาธารณะ การจัดงานศพ สนามกีฬากลางแจ้งจำพวกกอล์ฟ และเทนนิส คาดว่าเป็นวันที่ 3 พฤษภาคม เป็นต้นไป แต่ยังไม่เปิดห้างสรรพสินค้า เพราะต้องประเมินอีกครั้ง 17 พฤษภาคม
ศบค.เน้นย้ำแนวทางการผ่อนปรนว่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุข และคงแนวทางที่ปฏิบัติมาแล้ว ไม่ว่าทำงานที่บ้าน ร้อยละ 50 คงกิจกรรมที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น Social Distancing วัดอุณหภูมิ ใช้เจลแอลกอฮอล์ นำเทคโนโลยีติดตามตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญต้องประเมินผล หากคุมได้ดี การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะเดินหน้าต่อ หากคุมไม่ได้ จะระงับมาตรการต่าง ๆ ทันที. – สำนักข่าวไทย