พระนครศรีอยุธยา 24 เม.ย. – การใช้ลิฟต์ที่ต้องใช้มือกดปุ่มถือเป็นความเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีข่าวดี มีลิฟต์ที่ไม่ต้องใช้มือสัมผัสปุ่มกดให้ได้ใช้กันแล้ว เป็นฝีมือคนไทย ล่าสุดเพิ่งเร่งติดตั้งในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์
เจ้าหน้าที่กำลังเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์เข้ากับแผงวงจรไฟฟ้าของลิฟต์ ที่ตึกผู้ป่วยโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา อุปกรณ์เสริมนี้ทำให้ไม่ต้องใช้มือสัมผัสปุ่มกดลิฟต์ ช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อบุคลากรทางการแพทย์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้คิดค้นลิฟต์ไร้ปุ่มสัมผัส อธิบายว่า เมื่อนำนิ้วมือเข้ามาใกล้ๆ โดยไม่ต้องสัมผัสปุ่มกด รังสีอินฟาเรดจากตัวเซ็นเซอร์จะสะท้อนกลับ ลิฟต์จะรับคำสั่งทำงานทันที เซ็นเซอร์ที่ใช้เป็นเกรดอุตสาหกรรม อายุใช้งานนาน 10 ปี ยอมรับว่าอุปกรณ์มีความซับซ้อน เนื่องจากต้องสามารถรองรับลิฟต์ได้หลายรูปแบบ ต้องกันน้ำ กันฝุ่น เพราะเป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย จึงต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้ง
ติดตั้งเสร็จ บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ทดลองใช้ทันที ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบมาก อย่างเจ้าหน้าที่เข็นเตียงผู้ป่วยบอกว่า วันหนึ่งๆ ต้องกดลิฟต์นับครั้งไม่ถ้วน
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ขนาด 524 เตียง มีผู้ป่วยมาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1,500 คน แต่ช่วงโควิด-19 มีการลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ทั้งจัดส่งยาทางไปรษณีย์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน ลดผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 30 ผอ.โรงพยาบาลเชื่อว่าการติดตั้งลิฟต์ไร้ปุ่มสัมผัสนี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
นับเป็นโรงพยาบาลในระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ติดตั้งลิฟต์ไร้ปุ่มกด ส่วนแห่งแรกในกรุงเทพฯ คือโรงพยาบาลตำรวจ โดยสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง และบริษัทอีซีจี คอร์ปอร์เรชั่น ร่วมกันติดตั้งให้โรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขณะนี้ทั่วประเทศมีการใช้ลิฟต์มากกว่า 70,000 ตัว แต่กว่าครึ่ง หรือราว 40,000 ตัว อยู่ในกรุงเทพฯ การใช้ลิฟต์ไร้ปุ่มกด จึงอาจกลายเป็นอีก new normal หรือพฤติกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้. – สำนักข่าวไทย