สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 24 เม.ย.- ผู้ตรวจฯ จี้รัฐเร่งเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือคนตกหล่นเงินเยียวยา เสนอเงินช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายบุคคล ไม่ใช่รายครัวเรือน เพื่อให้กับคนที่ได้ 5,000 บาท ขจัดความเหลื่อมล้ำ
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หลังมีประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยได้ประชุมร่วมกับนายพรชัย ธีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจากการประชุมพบว่า ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่นำไปใช้ประมวลผลคัดกรองว่าบุคคลใดมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้น มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง แต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจจะให้บุคคลใกล้ชิดหรือผู้นำชุมชนช่วยจัดการให้ได้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทบทวนสิทธิของผู้ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ร่วมมือกับคลังจังหวัด ที่เป็นหน่วยงานในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดตั้ง “ทีมผู้พิทักษ์สิทธิระดับอำเภอ” จำนวนกว่าล้านคนทั่วประเทศ เพื่อเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลตามที่ยื่นทบทวนสิทธิ และรัฐบาลยังได้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อกำกับดูแลในภาพรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิไปแล้ว และวางแผนแนวทางแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิคนอื่น ๆ ด้วย
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า คาดว่าเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลน่าจะดำเนินการผ่อนผันให้ธุรกิจบางสาขาสามารถเปิดกิจการได้ แต่ต้องเข้มงวดในการรักษาระยะห่างทางสังคมด้วย ส่วนการเยียวยาเงินช่วยเหลือ ขอให้รัฐบาลกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทุกสาขาอาชีพให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทุกจังหวัดทั้งคนที่อยู่ในเมืองและในชนบท ซึ่งจากการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะในขั้นตอนการทบทวนสิทธิและรวมไปถึงขั้นตอนที่รัฐได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรแล้ว ขอให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเร่งเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชนที่ตกหล่นจากการได้รับเงินเยียวยา โดยให้เข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐโดยเร่งด่วนต่อไป กรณีการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรควรที่จะให้เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ให้เป็นรายครัวเรือน และจำนวนเงินควรมีความเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพื่อเป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมทั้งสิทธิในการได้รับการเยียวยาต้องไม่ซ้ำซ้อนกันด้วย.-สำนักข่าวไทย