กรมอนามัย 23 เม.ย.-กรมอนามัย แนะโรงทานในบริเวณวัด ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่จุดที่ใช้ปรุงประกอบ และแจกจ่ายอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายโรคโควิด-19
วันนี้ (23 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงทานที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัยป้องกัน COVID-19 ณ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) จ.นนทบุรี ว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้มีการจัดตั้งโรงทานในบริเวณวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งทางวัดต้องมีการควบคุมความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบสถานที่เตรียมปรุงและจุดรับอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค โดยสถานที่ตั้งโรงทานควรอยู่ในพื้นที่โล่งที่มีการระบายอากาศได้ดี
ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารไม่ควรสัมผัสอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์เครื่องในสัตว์โดยตรง และล้างมือหลังการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกครั้ง รวมทั้งแยกภาชนะ อุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร เช่นเขียง มีด ระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เน้นปรุงอาหารให้สุกอย่างน้อย 30นาทีด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 60 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเป็นอาหารกระป๋อง ทั้งก่อนเลือกซื้อและนำมาปรุงประกอบควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด ต้องมีเลขสารบบอาหาร (อย.) ฉลากควรระบุ ชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วเพราะหากมีแสดงว่าเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์
ส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วให้วางไว้บนโต๊ะสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารให้ร้อนทุกๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับหรือตักอาหารด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ส่วนของด้ามจับตกหล่นหรือสัมผัสกับอาหาร เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ควรจัดอาหารเป็นชุดพร้อมแจกจ่ายให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ให้แยกบรรจุ ข้าวและกับออกจากกันและให้หลีกเลี่ยงการใช้โฟมบรรจุอาหารเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ควรเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย กล่องกระดาษ (Foodgrade) แทนจะเหมาะสมกว่า
“ผู้ปรุงประกอบ ผู้ตักอาหาร และผู้ให้บริการ ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ก่อนการเตรียมอาหาร และหลังปรุงอาหารเสร็จ หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที ส่วนบริเวณจุดรับอาหารนั้น ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย อ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้บริโภคใช้ทำความสะอาดมือก่อนการหยิบจับอาหารและมีการกำหนดจุดที่ยืนรอรับอาหารต้องมีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 -2 เมตร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย