กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – กฟผ.นำเข้า LNG 2 ลำเรือ เผยช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงร่วม 500 ล้านบาท คาดหวังนำเข้าล็อตต่อไป ด้าน “ศรีสุวรรณ” ร้อง สตง.ตรวจสอบงบฯ ลงทุนด้านไฟฟ้าส่งผลค่าไฟแพง
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วานนี้ ( 21 เม.ย.) กฟผ.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบตลาดจร (Spot) จำนวน 65,000 ตัน ลำเรือที่ 2 จากบริษัท PETRONAS LNG ซึ่ง กฟผ.นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 โดยมีระยะเวลาการใช้ LNG ประมาณ 13 วัน คือระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2563
และเมื่อใช้ก๊าซ LNG ล็อตนี้เสร็จ กฟผ.จะรายงานผลการทดสอบ “การเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG หรือ Third Party Access (TPA)” ไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป โดยคาดว่าการจัดหา LNG ของ กฟผ.ทั้ง 2 ลำเรือ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) ลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อปลายปี 2562 ที่ 0.21 สตางค์/หน่วย เป็นลดลง 0.42 สตางค์/หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ กฟผ.ยังเตรียมแผนการจัดหา LNG กฟผ.ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟฟ้า โดยเสนอแผนนำเข้า ระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2563 – 2565) เป็นการนำเข้า LNG แบบ Spot ตามปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่เร่งให้นำเข้า LNG ในช่วงที่สถานการณ์ LNG ในตลาดโลกมีปริมาณมากกว่าความต้องการ (Over Supply) และมีราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเกิดการแข่งขันเสรีในธุรกิจนำเข้า LNG ในอนาคต
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบและนำไปสู่การยับยั้งและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยทางสมาคมฯ เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ผิดพลาดหลายด้าน ทั้งการจัดซื้อสินค้าที่แพง เงินโบนัสของ 3 การไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้ามาเกินไป โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งประเทศรวม 45,595 เมกะวัตต์ โดยเป็นสัดส่วนที่ กฟผ.ผลิตได้เพียง 15,424 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 33.83 % เท่านั้น ส่วนเอกชนมีปริมาณการผลิตมากถึง 30,171 เมกะวัตต์ หรือ 66.17% ขณะที่ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28,338 เมกะวัตต์เท่านั้น (สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อปี 2562 มีสูงเพียง 32,272 เมกะวัตต์เท่านั้น) ทำให้มีไฟฟ้าสำรองมากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องร่วมรับผิดชอบผ่านค่า FT.-สำนักข่าวไทย