ทำเนียบฯ 21 เม.ย.-ครม.รับทราบการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส รับสมัครระหว่างวันที่ 3-31 พฤษภาคม 2563 ส่วนการสอบและคัดเลือก ในห้วงเวลาเดือนมิถุนายน 2563 และการจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัวของนักเรียนทุกคน จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดรับนักเรียน การสอบ/คัดเลือก และการประกาศผล ให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน โดยต้องแล้วเสร็จก่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ส่วนการรับนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้จัดทำระบบรับสมัครนักเรียนออนไลน์สำหรับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ให้โรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษาทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 17 เมษายน 2563 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อให้โรงเรียนดำเนินการรับสมัครนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน สามารถดำเนินการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาทั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ดังนี้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 (ปวช.1) รับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และมอบตัว ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2563 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) รับสมัคร ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก และมอบตัว ให้สถานศึกษากำหนดตามความเหมาะสมและทันต่อการเปิดภาคเรียน
นางนฤมล กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รับสมัครผู้เรียนใหม่และลงทะเบียนเรียนผู้เรียนเก่า ดำเนินการโดยผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-16 พฤษภาคม 2563 โดยการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและอุปกรณ์ทางการสื่อสาร โดยต้องสำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน และขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทางในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563-30 เมษายน 2564) สำหรับ 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่โควิด-19 ไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา
นางนฤมล กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่ 2 กรณีโควิด-19 คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
ส่วนการทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน-15 พฤษภาคม 2564) โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นางนฤมล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานงานขอความร่วมมือกับโรงเรียน หรือหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอนหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนใช้จัดการเรียนการสอนได้ตามเงื่อนไขที่แต่ละหน่วยงานกำหนด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจัดทำสารบัญกลุ่มสาระการเรียนรู้จำแนกตามระดับชั้นและตัวชี้วัด เพื่อการเชื่อมต่อไปยังสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการเตรียมความพร้อมการเรียนการสอนออนไลน์ ดังนี้ เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงแพลตฟอร์มกับกระทรวงศึกษาธิการ และเตรียมระบบ Cloud Computing พัฒนาคลังความรู้ทางวิชาชีพบนระบบ Cloud และประสานงานเพื่อขอสนับสนุนช่องสัญญาณทีวีระบบดิจิทัลเพิ่มเติม จากเดิมที่มี DLTV ช่อง 13 (ถ่ายทอด 3 วัน/สัปดาห์) ไปยังมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
นางนฤมล กล่าวว่า การเรียนการสอนออนไลน์ในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน มี 4 แนวทาง คือ ใช้แบบเรียนหรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง /ใช้ชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับ DLTV โดยครูผู้สอนสามารถสื่อสารถึงผู้เรียนผ่านสื่อได้หลายช่องทาง อาทิ โทรทัศน์ YouTube /ใช้ระบบการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของสถานศึกษา เช่น ใช้แอปพลิเคชันที่สถานศึกษาสร้างขึ้น หรือช่องทางอื่นที่ใช้แพร่หลาย หรือผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง / ใช้ห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Realtime ได้ และในบางสาขาวิชาที่ขาดแคลนครูผู้สอนหรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการสอน อาทิ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง อาจเรียนโดยการรับชมการถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอน (Live) ผ่านศูนย์การสอนออนไลน์ของสถานศึกษาแม่ข่าย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน ONIE Online ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 www.ETVThai.tv และ www.ceted.org และ โปรแกรมการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Line, Google Classroom, Microsoft Teams, Zoom Meeting, E-book เป็นต้น รวมทั้งพบปะครูผู้สอนตามความเหมาะสมของเนื้อหาวิชา และบริบทพื้นที่ และจัดช่องทางการเรียนรู้ ได้แก่ ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 ออกอากาศคู่ขนานพร้อมกันทุกวัน เวลา 06.00 น.-24.00 น. โดยปรับตารางออกอากาศในเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน 2563 เพื่อสนับสนุนสื่อสำหรับในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งกำหนดช่องทางออกอากาศ ได้แก่ GMMz ช่อง 185, DTV ช่อง 252, PSI ช่อง 110, True ช่อง 371 และทางแอปพลิเคชั่น ONIE Online ทั้งนี้ดำเนินการวัดและประเมินผล โดยจัดสอบด้วยข้อสอบกลางสำหรับนักศึกษา กศน.ทั้งในรูปแบบข้อสอบและจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามศูนย์ทดสอบอำเภอ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับครู ด้วยการจัดทำคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษาและให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคนิค และวิธีการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงจัดฝึกอบรมครูให้สามารถใช้โปรแกรมที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย และพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ทุกรายวิชาตามหลักสูตรที่กำหนด.-สำนักข่าวไทย