กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – สพฐ.เตรียมแผนเปิดภาคเรียน 1 พ.ย.นี้ พร้อมกันทั้งประเทศแบบไม่บังคับ โดยจัดการเรียนการสอนเน้นความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ และเตรียมแผนเผชิญเหตุ กรณีเกิดปัญหาขึ้นในโรงเรียน
ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การเตรียมการเปิดภาคเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษานี้ ได้กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเปิดภาคเรียนพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ก็มิได้เป็นกรณีบังคับ เพราะมีหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนที่มีลักษณะเฉพาะบางประเภท โรงเรียนประจำ โรงเรียนเด็กพิการ บางเเห่งได้เปิดเรียนไปล่วงหน้าแล้ว หรือโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนบางสังกัด อาจเปิดภาคเรียนภายหลัง ตามกำหนดเวลาเปิดปิดเทอมที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อกล่าวโดยรวมโรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเปิดเรียนแบบ on-site พร้อมๆ กัน เมื่อกำหนดไว้เช่นนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานทางการศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาทั้งประเทศ จึงต้องมีทิศทางที่เป็นไปในเเนวเดียวกัน ต้องมีการจัดทำคู่มือกำหนดวิธีดำเนินการไว้ โดยเเบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การเตรียมการในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน เน้นการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก อาทิ โรงเรียนต้องมีการประเมินตนเองแบบเช็กลิสต์ ตามระบบ Sandbox Safety Zone in School ประมาณ 20-30 ข้อ เช่น การฉีดวัคซีนของนักเรียน ซึ่ง ศธ.กำหนดเป้าหมายไว้ว่าต้องเกิน 80% การฉีดวัคซีนครูและบุคลากรกำหนดไว้ที่ 100% ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ การทำความสะอาดบริเวณห้องเรียน ห้องอาหาร สนามเด็กเล่น และการบริการต่างๆ เช่น การสุ่มตรวจวัดด้วย ATK ช่วงเปิดเรียน การจัดเตรียมตารางเรียนที่สามารถสร้างระยะห่างให้เกิดขึ้นกับเด็ก การติดตามสภาพการระบาดในชุมชนรอบโรงเรียน รวมทั้งการขอให้ ศบค.จังหวัด เข้ามาตรวจสอบ รับรอง และอนุญาต การเปิดเรียน
สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก คือ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ครู ช่วยกันเตรียมโรงเรียนให้ปลอดภัย เตรียมจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน / ผู้ปกครอง ก็ต้องพาตัวเองและลูกหลานไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เว้นเเต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ / ชุมชน สังคมรอบข้าง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องช่วยทำให้จังหวัดปลอดโรค พ้นจากสถานการณ์เเพร่ระบาด
2. การจัดการเรียนการสอนตั้งแต่นี้ไป จะต้องเน้นความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ก็ต้องให้เด็กได้รับความรู้มากที่สุด การมาเรียนพร้อมกันทั้งโรงเรียนน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อาจต้องมีการสลับเวลาเรียน สลับชั้นเรียน แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ใช้วิธีเรียนหลายอย่างประกอบกัน เช่น เรียนออนไลน์ในส่วนของเนื้อหาวิชาการ มาโรงเรียนเพียงบางวัน เพื่อพบครูและเพื่อน ทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดค่าย เสาร์-อาทิตย์ เรียนว่ายน้ำ กีฬา ดนตรี กิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้มีสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม อาชีวศึกษา อาจต้องใช้ระบบเรียนเป็นโมดูล หรือ บล็อกคอร์ส เรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มเเรกเรียน 1 เดือน จบ 1 วิชา จากนั้นกลุ่มที่ 2 ก็มาเรียนต่อ เพื่อไม่ให้จำนวนผู้เรียนแออัดจนเกินไป ระดับมหาวิทยาลัยเน้นเรียนเนื้อหาจากระบบออนไลน์ และมาเรียนที่สถาบันเฉพาะในส่วนของกิจกรรม การเข้าห้อง Lab ฝึกปฏิบัติ การทำกิจกรรมกลุ่ม การฝึกงาน การจัดการเรียนการสอนเหล่านี้ ต้องเน้นบูรณาการ มีรูปแบบที่หลากหลาย และมุ่งให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาครบถ้วนในทุกด้าน ครูทุกคนมีความสามารถในการปรับตัวมาใช้ระบบออนไลน์อยู่แล้วในภาคเรียนที่ 1 หรือในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำได้ดีมาก เมื่อจะปรับระบบการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่งให้มีความหลากหลายและบูรณาการ ก็เชื่อว่าจะไม่เกินความสามารถของครูไทย
3. การเตรียมแผนเผชิญเหตุ กรณีเกิดปัญหาขึ้นในโรงเรียน เช่น มีนักเรียนติดโควิดในบางชั้น บางระดับ หรือชุมชนรอบข้าง มีผู้ติดโควิดจำนวนมาก หรือในบางกรณีครอบครัวของนักเรียนติดโควิด หรือนักเรียนติดโควิดจากโรงเรียนแล้วนำไปติดคนในครอบครัว การติดโควิดจากการนั่งรถนักเรียนหรือติดจากชุมชน แล้วส่งผลกระทบต่อโรงเรียน จำเป็นต้องมีการประเมินร่วมกันระหว่างสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และทีม ศบค.จังหวัด ในการกำหนดทิศทางหรือการแก้ปัญหาร่วมกัน จึงไม่ต้องแปลกใจหรือกังวลใจ หากจะมีโรงเรียนเปิดแล้ว และต้องปิด เเล้วเปิดใหม่ สลับกันไปเป็นระยะ ถือได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องบริหารตามสถานการณ์. – สำนักข่าวไทย