ทำเนียบรัฐบาล 21 เม.ย. – ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เดินหน้า RCEP การค้าเสรี ศึกษาความเป็นไปได้ติมอร์เลสเตร่วมอาเซียน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 – 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนามโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำเสนอ ผลการประชุมมีประเด็นสำคัญดังนี้ 1)เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 มาตรการการกีดกันการเคลื่อนย้ายพรหมแดนควรขึ้นอยู่กับการพิจารณาด้านสาธารณสุข ไม่ควรมีการจำกัดการค้าในภูมิภาคโดยไม่จำเป็น รวมถึงได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาด 2) เห็นชอบในหลักการการลดค่าธรรมเนียมการให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศให้เป็นอัตราเดียวในอาเซียน โดยรอผลการพิจารณาจากองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้อง 3) เห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสาขายานยนต์อาเซียน ภายในสิงหาคมปีนี้ 4) มีมติให้เริ่มการหารือเพื่อทบทวนความตกลงการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement : AITIGA) ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย เมื่อ 10 กันยายน 2562 ภายหลังการสรุปผลการและการลงนามความตกลง RCEP เท่านั้น โดยจะไม่มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับอินเดียก่อนการสรุปผลการตกลง RCEP 5) กำหนดให้ดำเนินการให้สัตยาบันพิธีสารเพื่อเริ่มใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ภายใน 1สิงหาคมนี้ 6) เห็นพ้องให้มีการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-เกาหลี ในรูปแบบอาเซียนลบ (ประเทศที่ไม่พร้อมให้เข้าร่วมภายหลัง) และ 7) พิจารณาการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์เลสเต โดยจะมีการเดินทางเยือนติมอร์ฯเพื่อค้นหาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายนนี้ ก่อนนำผลการสำรวจไปรวมกับผลการศึกษาด้านการเมืองและความมั่นคง และด้านสังคมและวัฒนธรรมต่อไป
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนฯ รับทราบสถานะล่าสุดของการเจรจาและท่าทีของอินเดียในการเข้าร่วม RCEP และมีมติยืนยันที่จะให้มีการลงนามภายในปี 2563 ไม่ว่าอินเดียจะเข้าร่วมหรือไม่ อีกทั้ง เห็นชอบให้ประเทศกลุ่มผู้ประสานงานของอาเซียนหารือกับอินเดียและญี่ปุ่น และเห็นชอบแผนการดำเนินงานของคณะเจรจาที่จะทำงานแบบคู่ขนานเพื่อเร่งหาข้อสรุปประเด็นคงค้างที่มีอยู่ และจะร่วมมือกันโน้มน้าวอินเดียให้กลับเข้าร่วมการเจรจา . – สำนักข่าวไทย