กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – สำนักงบประมาณเตรียมเสนอ ครม.โอนงบปี 63 นับแสนล้านบาท ระบุยังมีแผน 2 จ่ายเงินเยียวยา ช่วงรอ พ.ร.ก.เงินกู้ ต้นเดือน พ.ค.
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 21 เมษายนนี้ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หลังทำหนังสือให้ส่วนราชการปรับโอนงบประมาณที่ยังไม่ทำสัญญาผูกพัน เพื่อนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นงบด้านอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรม การเดินทางไปประชุม ดูงานต่างประเทศ ส่วนงบลงทุนเป็นโครงการที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน และยังไม่ได้ลงนามสัญญา เช่น กองทัพเรือชะลอแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ในงบปี 2563 ออกไปก่อน ทำให้มียอดงบประมาณจากทุกหน่วยงานรวม 80,000 – 100,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนพิธีการงบประมาณคาดการณ์ว่าใช้เงินได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563
สำหรับเงินรองรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com 5,000 บาทต่อเดือนนั้น รัฐบาลมีเงินจ่ายช่วงเดือนพฤษภาคมอย่างแน่นอน เพราะแม้ขั้นตอนกู้เงินอาจล่าช้า แต่ยังมีช่องทาง บริหารจัดการงบประมาณในมาตรา 45 ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้เตรียมเงิน 50,000 ล้านบาทจากแนวทางดังกล่าว นำออกมารองรับการเยียวยาได้ ช่องทางดังกล่าวเคยใช้วิธีนี้มาแล้วในช่วงปี 2529 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ส่วนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินสมทบจากทั้งลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาลนั้น สำหรับเงินสมทบของรัฐบาลได้ส่งสมทบทั้งหมดแล้ว และเงินกองทุนประกันว่างงาน 164,000 ล้านบาท สามารถดูแลผู้ประกันตนว่างงานตามมาตรา 33 ได้นับ 1 ล้านคน จึงไม่ต้องการให้แรงงานกังวลไม่มีเงินจ่าย
ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ถือว่าโชคดีของไทย ซึ่งได้จัดทำงบกลางรองรับภัยฉุกเฉิน เหตุภัยธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2502 สมัย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีการกันงบกลางสำรองฉุกเฉิน ทำให้ไทยช่วยแก้ปัญหาฉุกเฉินได้คล่องตัว และในงบกลางปี 2564 รัฐบาลกันไว้ 99,000 ล้านบาท เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะเริ่มขั้นตอนการรับทราบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จากนั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณปี 2563 และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในช่วงต่อไป เพื่อเตรียมเริ่มใช้เงินให้ทันเดือนตุลาคม 2563 .-สำนักข่าวไทย