กรุงเทพฯ 23 เม.ย. – ผอ.สำนักงบประมาณ เผยงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 2,400 ล้านบาท เป็นเงินเดือนบรรจุข้าราชการวงการแพทย์ ไม่เกี่ยวกับวงเงินด้านรักษาพยาบาลช่วงโควิด-19
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า กรณีกระแสข่าวการโอนเงินงบประมาณร้อยละ 10 ของแต่ละกระทรวงมาใช้เป็นงบกลางฉุกเฉินแก้ปัญหาโควิด-19 สำหรับประเด็นกรณีโอนเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ 2,400 ล้านบาท ตามมติ ครม.นั้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดสรรโอนมาให้เหมือนกับทุกหน่วยงาน ระบุว่าไม่กระทบต่อการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพ เพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพมีเงิน 2 ส่วน โดยปี 2563 จัดสรรวงเงิน 190,000 ล้านบาท รองรับการรักษาพยาบาลให้กับผู้ถือบัตรทอง 140,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบต่อการรักษาพยาบาลของผู้ถือบัตรทองอย่างแน่นอน
อีกส่วนหนึ่งจัดสรรสำหรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่กองทุนฯ หรือบุคลากร วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อ ครม.เห็นชอบบรรจุข้าราชการ “กระทรวงสาธารณสุข” 40,000 อัตราใหม่ จึงโอนวงเงินดังกล่าว 2,400 ล้านบาท มารองรับการจ่ายเงินเดือน สำหรับบรรจุบุคลากรเป็นข้าราชการอัตราใหม่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้วงการแพทย์ ประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ… วงเงิน 100,395 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2563
ส่วนประเด็นงบกลางปีฉุกเฉินปี 2563 จำนวน 500,000 ล้านบาทหายไปไหน เป็นคำถามของบุคคลที่รู้เรื่องแนวทางการใช้งบกลางฉุกเฉินอย่างดี แต่ทิ้งคำถามเอาไว้ ตามแผนการใช้งบกลางจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหลายส่วน โดยกรมบัญชีกลางใช้ดูแลเรื่องการปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนราชการ วงเงินประมาณ 96,000 ล้านบาท วงเงินสำหรับเบี้ยหวัดบำนาญข้าราชการเกษียณอายุ 260,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ 71,000 ล้านบาท เงินใช้จ่ายสำรองฉุกเฉิน 62,000 ล้านบาท สำหรับภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมา และยังใช้สำหรับโครงการชิมช้อปใช้ เงินจึงไม่ได้หายไปไหน
ส่วนเงินช่วยเหลือเยียว 5,000 บาท 3 เดือน เมื่อ ครม.เห็นชอบขยายจำนวนช่วยเหลือ จาก 9 ล้านคน เพิ่มเป็น 14 ล้านคน ต้องใช้เงินทั้งหมด 210,000 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือน และต้องกันสำหรับปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในยามฉุกเฉิน ถือว่าการจัดทำงบกลางของไทยมีความคล่องตัวมากกว่าหลายประเทศในโลก เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถนำมาแก้ปัญหาได้ทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย