กรุงเทพฯ 16 เม.ย. -กมธ.สาธารณสุขฯ วุฒิสภา ชี้วัคซีน จะเป็นตัวยุติการระบาดโควิด-19 คาดใช้ระยะเวลาการในการศึกษาวิจัยไม่น้อยกว่า 9 เดือนถึง 1 ปี
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นัดประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ วานนี้ (15เม.ย. ) ซึ่งเป็นการพิจารณาแนวโน้มอนาคตของโรคระบาด COVID-19 โดยนายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยายวงกว้างมากกว่าการระบาดของโรค SARS โรค MERS ที่เป็นไวรัสชนิดเดียวกัน เนื่องจากการติดต่อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการ แตกต่างจาก 2 โรคดังกล่าว ที่การติดต่อจะพบเมื่อมีการแสดงอาการ ทำให้สามารถการควบคุมการระบาดในวงจำกัดได้ ทั้งนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะยุติลงได้จาก 3 รูปแบบ คือค้นพบวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนให้กับคนส่วนใหญ่หรือประชาชนทุกคนให้ได้ร้อยละ 60 จึงจะยุติการระบาดใหญ่ได้ เกิดการติดเชื้อจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือเกิดภูมิคุ้นกันหมู่ และไวรัสหายไปจากโรค ส่วนการค้นพบยารักษาจะไม่ช่วยทำให้อัตราการระบาดลดลง แต่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลงได้ ซึ่งวัคซีน คือ หนทางสำคัญในการยุติการระบาด แต่จะใช้ระยะเวลาการในการศึกษาวิจัยไม่น้อยกว่า 9 – 12 เดือน จึงอาจจะนำมาใช้ได้จริง
ขณะที่นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดของประเทศไทยยังอยู่ระยะที่ 1 อยู่ในช่วงขาลง สามารถรับมือได้ดี แต่การผ่อนปรนด้วยการเข้าสู่ระยะที่ 2 ให้กลับมาเปิดบางส่วนให้ปกติ จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยมีสัญญาณ คือ ต้องไม่พบผู้ติดเชื้อ 14 วัน หรือโรงพยาบาลมีทรัพยากรเพียงพอต่อการรับมือผู้ป่วยหากเกิดการกระบาด จึงควรดำเนินการตามข้อเสนอแนวทางการเตรียมระบบรองรับการระบาดโรค COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เพื่ออุดช่องโหว่ ไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกที่ 2 โดยเริ่มจากการทบทวนแผนรองรับการระบาดรายจังหวัดให้สอดคล้องกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดควรทบทวนแผน และขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดจนทรัพยากรบุคคล และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ซึ่งควรต้องมีการสนธิกำลังแต่ละหน่วยงานมาร่วมกัน จนถึงการเตรียมการเข้าสู่ระยะที่ 2 ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน หากจะผ่อนปรนให้เปิดเมืองตามปกติ โดยต้องยึดถือมาตรการ social distancing อย่างต่อเนื่อง และต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ผลกระทบที่จะตามมา และระบบสาธารณสุขต้องมีทรัพยากรเพียงพอ หากเกิดการระบาดใหม่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งข้อสังเกตในบางประการเพื่อให้การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ควรจะมีการจัดทำ rapid test ราคาถูก สำหรับการใช้ตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างง่ายในวงกว้างมากขึ้น โดยควรยึดเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (benchmark) จากประเทศที่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เหมือนสหรัฐอเมริกา หรืออิตาลี ที่มีสัดส่วนการตรวจหาผู้ติดเชื้อ จำนวน 10,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน หากใช้เกณฑ์เดียวกันนี้ ประเทศไทยจึงควรทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้จำนวน 700,000 คน ตลอดจนอยากให้มีการกำหนดมาตรการให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากอนามัย ชนิด N95 ชุดป้องกัน PPE ได้เอง เพื่อความยั่งยืนและพร้อมรับต่อสถานการณ์ หากการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต.-สำนักข่าวไทย