กทม. 15 เม.ย. – หลังสำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศแนวทางและข้อปฏิบัติในช่วงเดือนรอมฎอม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้นำศาสนาในชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ขณะที่มีคำแนะนำจากนายแพทย์มุสลิม ถึงแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติมในพิธีละศีลอดที่บ้านแทนการทำพิธีที่มัสยิด
เสียงอะซาน หรือคำประกาศแจ้งเข้าเวลาละหมาดดังขึ้นจากมัสยิด ย่านหนองจอก เป็นสัญญาณบอกเวลาสำหรับชุมชนชาวไทยมุสลิมที่จะมีขึ้น 5 ครั้ง ใน 1 วัน แต่ที่แตกต่างไปจากทุกครั้งคือ ไม่มีชาวมุสลิมมารวมตัวละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้เหมือนเช่นเคย
อิหม่ามให้ข้อมูลว่า ช่วงแรกจะมีมุสลิมในชุมชนสอบถามแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เมื่อทุกคนเข้าใจก็พร้อมทำตาม ทำให้ตอนนี้มีเพียงผู้ดูแลและคนที่เดินทางผ่านมา 2-3 คน ที่จะเข้ามาละหมาดในมัสยิด โดยให้ยืนเว้นระยะห่างกัน ซึ่งศาสนาอิสลามมีข้อบัญญัติชัดเจนไม่ให้ผู้ป่วยอยู่รวมกับผู้ที่มีสุขภาพดี
ส่วนสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่เดือนรอมฎอน เทศกาลถือศีลอด ตามวัตรปฏิบัติจะมีการรวมตัวทำพิธีละศีลอดที่มัสยิด รับประทานอาหารร่วมกัน ละหมาดในยามค่ำคืน ก็จะต้องงดทั้งหมด
มีคำแนะนำจาก ผอ.โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ บอกว่า ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล ครึ่งหนึ่งเป็นชาวมุสลิม พร้อมแนะแนวทางลดความเสี่ยงช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ทำอาหารเองที่บ้านในช่วงละศีลอด ก็ควรแยกจาน-ช้อนของตัวเอง มีระยะห่างในการรับประทาน และวางแผนซื้อวัตถุดิบทำอาหารล่วงหน้า ไม่ควรออกไปทุกวัน ส่วนการทักทายตามประเพณีมุสลิมที่ต้องสัมผัสมือก็ต้องปรับให้เมาะสม และแพทย์เองต้องเป็นตัวอย่างให้กับคนไข้
นอกจากนี้ ที่โรงพยาบาลได้จัดสถานที่ละหมาดสำหรับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ มีมาตรการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยง ลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ห้ามญาติเยี่ยม ทำให้ขณะนี้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 20-30. – สำนักข่าวไทย