กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – ราคาเอทานอลขยับสูงขึ้นส่งผลราคาอี 20 และอี 85 ไม่ปรับลดลง ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ล่าสุดยังลดลง เพราะข่าวการลดกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสต่ำกว่าคาด
ในวันนี้ (10 เม.ย.) ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มลดลง 30-60 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นอี 20 และอี 85 ที่ไม่ปรับลดลง ซึ่งผู้ค้าน้ำมันระบุว่าเนื่องจากราคาเอทานอลขยับสูงขึ้น นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ราคาเอทานอลขยับขึ้นจริง ราคาอ้างอิงเพิ่มขึ้นเกือบ 70 สตางค์/ลิตร ล่าสุดอยู่ที่ 23.28 บาท/ลิตร เพราะปัญหาเกิดจากภัยแล้ง ส่งผลปริมาณอ้อยและมันสำปะหลังลดลง วัตถุดิบผลิตเอทานอลจึงขยับสูงขึ้นที่สำคัญหาได้ยาก และคาดว่าไตรมาส 3 และ 4 จะสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดราคาโมลาสสูงถึง 5,000 บาท/ตัน หรือ กก.ละ 4-5 บาท จากช่วงปกติราคาประมาณกว่า 3,000 บาท/ตันเท่านั้น ราคามันสำปะหลัง 2.30 บาท/กก.
“วัตถุดิบผลิตเอทานอลขณะนี้แพงมาก และสำคัญหายากจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ค่าดำเนินการก็ไม่ได้ลดลง แม้ราคาอ้างอิงที่กระทรวงพลังงานประกาศจะอยู่ที่ 23.28 บาท/ลิตร แต่ตลาดค้าขายจริง ส่วนใหญ่ก็ต่ำกว่านั้นและยิ่งในช่วงนี้การใช้น้ำมันลดน้อยลง ปรากฏว่าผู้ค้าน้ำมันได้เจรจายืดระยะเวลาการส่งมอบน้ำมันให้ยาวนานกว่าสัญญาเดิม ซึ่งโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
สำหรับปริมาณอ้อยปีนี้ลดลงประมาณร้อยละ 40-50 เหลือประมาณ 74-76 ล้านตัน ผลิตโมลาสได้เพียง 3-4 ล้านตันเท่านั้น จากปีที่แล้วปริมาณอ้อยได้ประมาณ 131 ล้านตัน โมลาสผลิตได้ประมาณ 6 ล้านตัน ราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/ตัน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก โดยอี 20 ราคาอยู่ที่ 15.24 บาท/ลิตร สะท้อนราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำผิดปกติ เพราะเกิดสงครามราคาน้ำมัน ในภาวะเช่นนี้ภาครัฐน่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อที่จะได้มีเงินเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในอนาคตที่คาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น หากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจับมือกันได้และปัญหาการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปิดตลาดล่าสุดวานนี้ (9 เม.ย.) ลดลงทุกตลาดโดยเฉพาะเวสต์เท็กซัส สหรัฐ ลดลงกว่า 2 ดอลลาร์ ปิดไปที่ 22.76 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากตลาดผิดหวังที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกและรัสเซีย หรือโอเปกพลัสมีการประชุมและมีกระแสข่าวว่าร่วมมือลดกำลังผลิตน้ำมันต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเริ่มลดลงประมาณ 10 ล้านบาร์เรล/วันเท่านั้น ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงประมาณ 20-25 ล้านบาร์เรล/วัน.-สำนักข่าวไทย