กรุงเทพฯ 9 เม.ย.-“นพ.เฉลิมชัย” ชี้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เฉพาะกลุ่มเสี่ยง พลาดคนไร้อาการ-มีอาการน้อย แพร่เชื้อต่อ เสี่ยงตายสูง แนะขยายการตรวจให้กว้างขึ้น ลดอัตราการตาย วอนคนไทยมีวินัย อยู่บ้าน ลดการแพร่ระบาด
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา วิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 จะดีขึ้นหรือแย่ลงมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง คือ การที่เราทราบจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เพราะเราจะได้สามารถควบคุมความรุนแรงของการแพร่กระจายโรค ผ่านการกักตัวผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ กักตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยไว้ในโรงพยาบาลสนาม รับตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางไว้ในโรงพยาบาล และรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการมากไว้ในห้องไอซียู
“ถ้าเราสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อได้จำนวนมากเท่าใด เราก็จะสามารถลดการแพร่กระจายของโรคลงได้มากเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางถึงมากจะมีจำนวนเพิ่มไม่มาก จนอยู่ในระดับที่โรงพยาบาล ทั้งหอผู้ป่วยทั่วไปและห้อง ICU สามารถรองรับได้ อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ จนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้” นพ.เฉลิมชัย กล่าว
นพ.เฉลิมชัย ระบุถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ ว่า แบ่งเป็น 1.ไม่มีอาการ : กักตัวไว้ในสถานที่ที่รัฐกำหนด 2.มีอาการน้อย : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลสนาม 3.มีอาการปานกลาง : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลในส่วนหอผู้ป่วยทั่วไป และ 4.มีอาการมาก : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลในส่วนหอผู้ป่วยไอซียู ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 4 กลุ่ม สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
“ถ้าเราตรวจหาการติดเชื้อน้อยโดยเกณฑ์ที่เข้มข้น เราจะได้เฉพาะผู้ติดเชื้อกลุ่ม 3 และ 4 ไว้ดูแลและควบคุมการแพร่เชื้อ แต่เราจะไม่ได้ผู้ติดเชื้อกลุ่ม 1 และ 2 ที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่ม 3 และ 4 หลายเท่าตัว มากักไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จึงจะทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ยกเว้นแต่มีมาตรการเข้มข้นที่สุด คือ การปิดบ้านไม่ออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน (กรณีปิดเมืองอู่ฮั่น) หรือมาตรการเคอร์ฟิว 24 ชม. จึงจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไว้ได้ ทั้งนี้เราอาจจะหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มข้นที่สุด โดยการเร่งเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจการติดเชื้อให้มีจำนวนมากและกว้างขวางเพียงพอ ที่จะค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ เพื่อนำมากักตัวไว้ในสถานที่ที่รัฐกำหนด” นพ.เฉลิมชัย กล่าว
น.พ.เฉลิมชัย ยังยกตัวอย่างประเทศที่ดำเนินการเร่งขยายขอบเขตการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดเพื่อลดอัตราของผู้เสียชีวิตให้ต่ำลง แม้ในระยะแรกจะมีความกังวลเมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ (เสียชีวิต 1.86%) เยอรมัน (เสียชีวิต 1.80%) เปรียบเทียบกับประเทศที่มีขอบเขตการตรวจเชื้อไม่กว้างขวางพอ เน้นตรวจเฉพาะผู้ที่เข้าได้กับเกณฑ์ความเสี่ยงเท่านั้น จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า ได้แก่ อังกฤษ (เสียชีวิต 11.03%) ฝรั่งเศส (เสียชีวิต 10.45%) แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยตัวแปรอื่นที่สำคัญในการกำหนดอัตราผู้เสียชีวิต ได้แก่ ความมีวินัยของประชาชนที่จะให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ วัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนในชาติ ปริมาณและคุณภาพของระบบสาธารณสุข ตลอดจนสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ.-สำนักข่าวไทย