กรุงเทพฯ 8 เม.ย. – เปิดรายงาน กนง.นัดพิเศษ มติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยช่วยบรรเทาผลกระทบโควิด-19ระบาดรุนแรง คาดหวังเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะกลับมาขยายตัว หากโควิด-19 คลี่คลายลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ วันที่ 20 มีนาคม 2563 และวันที่ 25 มีนาคม 2563 ว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวแรง ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้นและมีมาตรการจำกัดการเดินทาง ด้านการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มหดตัวแรงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงมาก และหลายประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต สำหรับปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง มาตรการการคลัง สามารถขับเคลื่อนและเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคได้ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ได้
คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น รวมทั้งประเมินผลกระทบของความเสี่ยงแต่ละกรณี มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1. การระบาดของโควิด-19 ที่ในปัจจุบันรุนแรงขึ้นและแพร่ไปยังหลายประเทศมากขึ้น สำหรับกรณีของไทย หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2563 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้บ้างในช่วงครึ่งหลัง 2. ความสามารถในการรองรับผลกระทบ (shock) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 3. มาตรการการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
“ในระยะข้างหน้าที่การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง มาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังของประเทศจะต้องสอดประสานกัน ดำเนินการเชิงรุก และขยายบทบาทในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอทั่วถึงและทันการณ์ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในระยะต่อไป” รายงาน กนง.ระบุ.-สำนักข่าวไทย