สำนักข่าวไทย 7 เม.ย.-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.เผยปริมาณขยะหน้ากากอนามัยใน กทม.สูงกว่า1,500 กิโลกรัมต่อวัน และพบประชาชนจำนวนมาก ไม่ยอมคัดแยกออกจากขยะทั่วไป
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.)กล่าวถึงปริมาณขยะติดเชื้อในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย โดยยอดเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตามสถานพยาบาล สถานอนามัย โรงพยาบาล และจุดสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อตามสำนักงานต่างๆของ กทม.มีปริมาณเฉลี่ยวันละ 1,500 กิโลกรัม ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่สำหรับยอดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยตามบ้านเรือนประชาชนยังไม่มีการบันทึกข้อมูล แต่จะให้เจ้าหน้าที่แยกขยะเหล่านี้ใส่ถังเฉพาะที่อยู่ท้ายรถเก็บขยะ แล้วนำไปทำลายพร้อมขยะติดเชื้อ วิธีการจะกำจัดด้วยเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ โดยมูลฝอยติดเชื้อจะถูกป้อนเข้าสู่ห้องเผาที่ 1 ซึ่งจะทำการหมุนระหว่างการเผาเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นเข้าสู่ห้องเผาที่ 2 เพื่อกำจัดควันและกลิ่นให้สมบูรณ์ ซึ่งจะควบคุมอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ขั้นตอนต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนระบบบำบัดมลพิษทางอากาศต่อไป
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ได้รับการรายงานมาจากพนักงานเก็บขยะในพื้นที่ พบว่ายังมีบ้านเรือนประชาชนอีกจำนวนมากทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยไม่แยกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่ ไม่ไปต้องไปหยิบแยกออกมาเพื่อความปลอดภัย แม้เจ้าหน้าที่เก็บขยะในเวลานี้จะให้สวมใส่ชุดPPE ป้องกันเชื้อโรค, ถุงมือยาง, หน้ทกากอนามัย,เฟซชิลล์ก็ตาม ซึ่งหน้ากาก อยามัยที่ไม่ได้แยกก็จะทำการเผาไปพร้อมกับขยะทั่วไป ซึ่งใช้ความร้อนที่สูงเช่นกัน
“อยากขอความร่วมไปยังพี่น้องประชาชนหากมีหน้ากากอนามัยที่ใช้เเล้ว หากทิ้งพร้อมกับขยะทั่วไปเวลาทิ้งขอให้ใช้วิธีการ นำหน้ากากอนามัยแยกใส่ถุงเห็นให้ชัดเจน ผูกปากถุงให้มิดชิด เพื่อจะได้นำไปกำจัดขยะติดเชื้อด้วยวิธีการที่ปลอดภัยต่อไป” นายชาตรี กล่าว
สำหรับบ้านเรือนประชาชนที่ต้องการนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไปทิ้ง ขณะนี้ กทม.ได้ จัดหาถังรองรับหน้ากากอนามัยพร้อมติดป้ายข้อความ “สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น”สามารถนำไปทิ้งได้ที่ สำนักงานเขต 50 แห่ง,ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง, โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า), บริเวณหน้าห้องตรวจโรค สานักอนามัย ชั้น 1 ฝั่งถนนดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง),
บริเวณจุดคัดกรอง 4 จุด ประกอบด้วย อาคาร 1 (อาคารสานักการโยธา) บริเวณทางเข้าด้านธนาคารกรุงไทย อาคาร2 (อาคารสานักการระบายน้ำ) บริเวณทางเข้าด้านห้องละหมาด อาคารธานีนพรัตน์ 2 จุด (ด้านฝั่งวิภาวดี และด้านฝั่งวงเวียนน้าพุ) และอาคารไอราวัตพัฒนา บริเวณทางเข้าชั้น B1 ใกล้ลานน้ำพุ.-สำนักข่าวไทย