สธ.31มี.ค.-สธ.ห่วงหน้ากากอนามัยแบบN95 ไม่พอเพราะทั่วโลกต้องการไม่แตกต่างกัน เตรียมนำระบบอบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีมาใช้ พร้อมแจงข้อมูลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ปรับตามสถานการณ์ปัจจุบัน ห่วงคนป่วยไม่มีอาการและอาการน้อย จนถึงอาการน้อย แต่มีโรคร่วมต้องพบแพทย์โดยเร็ว
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด -19 ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 127 คน รักษาหายแล้ว 215 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม 342 คน เหลือนอนรักษาใน รพ.1,299 คน ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ใน จ.มหาสารคาม มีอาชีพเป็นนักร้อง และมีโรคประจำตัว เบาหวาน มะเร็ง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวม 10 คน ส่วนผู้ป่วยอาการหนักคงที่ 23 คน จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 62คน ยังคงเป็นผู้ป่วยกลุ่มเดิม ที่มาจากสนามมวย 4 คน และสถานบันเทิง 11 คน สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 47 คน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่มาจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ 23 คน ทำงานอาชีพเสี่ยง 9 คน บุคลากรทางการแพทย์ 3 คน ไปชุมชน 6 คน ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของไทย การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 หากคนไทยร่วมมือกันมีระยะห่าง จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้
นพ.สุขุม กล่าวว่า การพบผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุประมาณ 20-50 ปี และสังเกตได้จากพฤติกรรมการติดของโรค มาจากกิจกรรม ทั้งสนามมวยและสถานบันเทิง ส่วนคนเสียชีวิตพบในอายุ 50-60 ปี มีโรคประจำตัวร่วม ทั้งเบาหวาน อ้วน และไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมห่วงเรื่องสถานการณ์การขาดแคลนหน้ากากแบบ N 95 ที่เป็นกันทั่วโลก เพราะหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาสถานการณ์การระบาดเช่นกัน แม้จะมีการสั่งซื้อแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะความต้องการใช้ประมาณ 5 แสนชิ้นต่อเดือน จึงเตรียมนำระบบ อบร้อนด้วยรังสียูวีสูง มาใช้ฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยแบบN95 ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราช ญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยมีการปรับตามสถานการณ์และปัจจัยในปัจจุบัน โดยมีสมาคมราชวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ร่วมกันกำหนด แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1.ติดเชื้อไม่มีอาการ 2.ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย คล้ายไข้หวัด แต่ไม่มีโรคประจำตัว 3.ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย แต่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน อ้วน 4.ปอดบวม แต่อาการไม่รุนแรง และ 5.ปอดบวมอาการรุนแรง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งในกลุ่ม 3-4 ไม่น่าห่วง เพราะเมื่อปอดอักเสบ ต้องนอน รพ.แต่ในกลุ่ม 1-3 เหล่านี้ ไม่มีอาการ แต่ควรมารีบพบแพทย์ โดยต้องรับการรักษาอยู่ใน รพ. 2-7 วัน แม้ไม่มีอาการ ต้องเฝ้าดูอาการ หากพบเริ่มป่วยรุนแรงขึ้น แพทย์จะจัดสูตรยาที่เหมาะสม ปรับไปเรื่อยๆ
นพ.สกานต์ กล่าวว่า กรณีไม่พบอาการป่วย ก็จะถูกส่งไปดูอาการต่อที่โฮสปิเทล หรือหอพักผู้ป่วยที่ดัดแปลงมาจากโรงแรมดูอาการ 14 วัน เมื่อครบแล้ว จึงจะอนุญาตให้กลับบ้าน และเมื่อกลับบ้านถึงบ้าน สามารถทำงานได้เป็นปกติ แต่ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่นอีก 1เดือน จึงจะถือว่าปลอดภัย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสแขวนกะเพราหน้าบ้านป้องกันโควิด-19 ว่า แขวนอะไรก็ไม่ช่วย สิ่งเดียวที่ช่วยได้คือวิธีปฏิบัติตัว หลีกเลี่ยงการเข้าไปสถานที่แออัด เครื่องรางของขลังอย่าไปหวัง ควรหวังให้ตนเองปลอดภัยจากวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง พร้อมย้ำตัวเลขคาดการสถานการณ์การป่วย จัดทำเพื่อการวางแผน เตรียมอุปกรณ์ เตียง หอผู้ป่วย และเวชภัณฑ์ คำนวณโดยนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ภายในสิ้นเดือน เม.ย.เราจะมีผู้ป่วย 20,000-25,000 คน ซึ่งถ้าทุกคนมีการเว้นระยะห่างทางสังคมร้อยละ50 จะมีผู้ป่วยเพียง 15,000-17, 000 คน และถ้าทุกคนทำได้ร้อยละ 80 จะมีผู้ป่วยเพียง 7,000 คน หากทุกคนร่วมกันออกจากบ้านให้น้อยลง จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อก็จะลดลง
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดจากการสวมรองเท้า เข้าบ้านนั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การรับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ จากการรับเชื้อโดยตรงจากผู้ไอจาม หรือใช้มือเปื้อนเชื้อไปสัมผัสตา จมูกและปาก แม้การใส่รองเท้าเข้าบ้าน อาจเป็นตัวกลางนำเชื้อเข้าบ้าน แต่ถ้าหมั่นล้างมือบ่อยๆ จะหยุดการแพร่ระบาดและการรับเชื้อได้ พร้อมยืนยันกระบวนการสอบสวนโรค กรณีพบเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ติดเชื้อโควิด -19 จะทำอย่างรัดกุม ตรงไปตรงมา ทราบว่าขณะนี้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงส่วนหนึ่ง ได้กักตัวเองดูอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วันแล้ว .-สำนักข่าวไทย