ก.คลัง 30 มี.ค. – คลังเตรียมออกชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ เฟส 3 คาดใช้งบมากกว่า 4 แสนล้านบาท ยันไม่ถังแตก ไม่จำเป็นต้องกู้ IMF
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 หรือมากกว่า 400,000 ล้านบาท ผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่ยึดโยงไปทุกพื้นที่ ซึ่งมาตรการชุดนี้จะช่วยดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะกลุ่มเหล่านี้ปัจจุบันรายได้หายไป ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 จะดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบและมีขนาดที่เหมาะสม โดยขณะนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันคิดสร้างความเข้มแข็งต่อเนื่องให้เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพราะต้องศึกษารายละเอียดก่อน
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังถังแตกและจำเป็นต้องกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้น ยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ถังแตกและไม่มีความจำเป็นต้องกู้จาก IMF แน่นอน โดยการจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณดูแลอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยแหล่งเงินทุนที่จะใช้นั้น จะมีทั้งงบประมาณและส่วนอื่นที่กำลังพิจารณามาเสริมกัน ด้านการรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่จะต้องรักษาไว้ในระดับไม่เกิน 60% นั้น ยืนยันว่าขอให้มั่นใจขณะนี้ฐานะการคลังของไทยเข้มแข็ง และจะรักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้ไม่เกิน 60% ได้แน่นอน ส่วนจะโยก พ.ร.บ.งบประมาณ หรือการออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไม่นั้น สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาทุกทางเลือกที่เหมาะสม
สำหรับกรณีที่สายการบินของไทยเตรียมขอกระทรวงการคลังพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) วงเงิน 16,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เข้าไปดำเนินการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ส่วนมาตรการอื่น เช่น การเสริมสภาพคล่อง ขณะนี้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขอให้ภาคการบิน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เข้าไปเสริม
ด้านกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ติดลบ 5.3% มองว่า ไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบไวรัสดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อใด สิ่งที่ ธปท.ประเมินเป็นตัวเลขหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวเลขที่แท้จริงจะเท่าใดไม่มีใครตอบได้ . – สำนักข่าวไทย