กทม. 27 มี.ค. -ศาลปกครองไม่รับฟ้อง คดีแม่นักศึกษาไทยในแคนาดาขอเพิกถอนกฎบินเข้าไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์ ยืนยันไม่ติดเชื้อโควิด ชี้แม้เป็นประกาศ สนง.การบินพลเรือน แต่หลักเกณฑ์เดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่นางสุภา โชติงาม มารดา น.ส.มนัสนันท์ จอมพันธ์ นักศึกษาไทยในประเทศแคนาดา ฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ที่ทำการบินมายังประเทศไทยฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม ที่กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันได้ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ หากพบว่าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานดังกล่าวได้ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19
โดยการฟ้องคดีดังกล่าวนางสุภา อ้างว่า ขณะฟ้องคดีนี้สถานการณ์ในประเทศแคนาดาไม่สามารถที่จะขอใบรับรองแพทย์ หรือเดินทางไปขอรับใบรับรองแพทย์ได้ง่าย โดย น.ส.มนัสนันท์ บุตรสาวได้ติดต่อขอใบรับรองแพทย์จากคลินิกและสถานพยาบาลหลายแห่งแต่ถูกปฏิเสธทุกแห่ง จึงเห็นว่า ประกาศฉบับดังกล่าว สร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร และขัดรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นเป็นการห้ามบุคคลสัญชาติไทยเข้าประเทศ
ส่วนเหตุผลที่ศาลไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาระบุว่า มาตรา 16 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 1) บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือ การกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งวรรคสองของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 1) ที่ประกาศเมื่อ 25 มีนาคม มีผลบังคับใช้วันที่ 26 มีนาคมนั้น กำหนดให้มีการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งทางอากาศยาน เรือ รถ พาหนะอื่นใด โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน จุดผ่อนปรนตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
สำหรับผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทยหากต้องการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้ติดต่อสถานทูต สถานกงสุลในประเทศที่พำนักเพื่อออกหนังสือรับรอง หรือใบรับรองแพทย์ซึ่งได้รับการตรวจรับรองหรือออกให้มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ช.ม. ก่อนเดินทางและเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกับ ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเกิดอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย เมื่อบุตรสาวของนางสุภา เพิ่งจบการศึกษาและมีกำหนดการจะเดินทางกลับเข้าประเทศอย่างเร็วที่สุดวันที่ 26 มีนาคม อันเป็นเวลาที่อยู่ในบังคับตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุตรสาวของนางสุภาจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว แม้ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยฯดังกล่าว แต่บุตรสาวของนางสุภาก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวยังมีช่องทางช่วยเหลือโดยให้สถานทูตไทยหรือกงสุลไทยในต่างประเทศให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสัญชาติไทยในการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามความในข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) ศาลจึงไม่ต้องออกคำบังคับเพิกถอนประกาศ ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฯตามขอและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคมนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คนไทยซึ่งพำนักอยู่ประเทศไอร์แลนด์ ก็ได้ยื่นฟ้องกรณีเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดย ห้ามจำกัดเสรีภาพสร้างภาระเกินสมควร ซึ่ง นายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง ระบุว่า ขั้นตอนอยู่ระหว่างส่งสำนวนเข้าองค์คณะ โดยคำร้องดังกล่าวขอให้มีการทุเลาการบังคับตามคำสั่ง เเต่ขณะนี้ทางศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งออกมาอยู่ระหว่างการพิจารณา.-สำนักข่าวไทย