กทม.21มี.ค.-ผู้ว่าฯกทม.โพสต์ประกาศ กทม.เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่2) เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย้ำร้านอาหาร-ซุปเปอร์มาร์เก็ต-ตลาดสด-ร้านสะดวกซื้อเปิด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯอัศวิน” โดยระบุว่า
กทม.สั่งปิด 25 สถานที่เสี่ยง 22 มี.ค.-12 เม.ย.63 ***ร้านอาหารเปิด ซุปเปอร์มาร์เกตเปิด ตลาดสดเปิด ร้านสะดวกซื้อเปิด***
พร้อมออก 6 มาตรการขอความร่วมมือป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.
ไม่ต้องกักตุนสินค้าและอาหารแค่หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมากและเว้นระยะ Social Distance
นอกจากนี้ ยังโพสต์ภาพประกาศกรุงเทพมหานครประกอบ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่2)
ด้วยสถานการณ์ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่3) พ.ศ.2563 พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชากรสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว การควบคุมอย่างทันเวลาและจำกัดการชุมนุมของประชาชน เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆที่มีความเสี่ยงสูง
อาศัยอำนาจตามความมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 จึงให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563และให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้
1.ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)
2.ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น)
3.พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ
4.ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
5.ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม
6.สถานที่บริการ สักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
7.สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลต หรือการเล่นอื่นๆในทำนองเดียวกัน
8.สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม
9.ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต
10.สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
11.สระว่ายน้ำ หรือกิจกรรมอื่นๆในทำนองเดียวกัน
12.สนามชนไก่และสนามซ้อมชนไก่
13.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่องพระบูชา
14.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและสถานที่จัดนิทรรศการ
15.สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา
16.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม
17.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)
18.สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
19.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
20.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
21.โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)
22.สถานที่ออกกำลังกาย
23.สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
24.สนามมวยและโรงเรียนสอนมวย
25.สนามกีฬา
26.สนามม้า
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป
จะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรค สอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2563 ลงชื่อพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ประกาศฉบับที่ 1 มีจำนวน 8 แห่ง
1.สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด เว้นแต่การให้บริการดังกล่าวในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
2. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร เว้นแต่การให้บริการดังกล่าวในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล 3. สถานประกอบกิจการโรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ) 4. สถานประกอบกิจการสถานที่ออกกำลังกาย
5. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
6. สนามมวย
7. สนามกีฬา
และ 8. สนามม้า .-สำนักข่าวไทย