ทำเนียบฯ 18 มี.ค.- กทม.แจงรายละเอียดธุรกิจกิจ 8 ประเภท ที่ต้องปิดบริการชั่วคราว 2 สัปดาห์ เพื่อให้ปรับปรุงทำความสะอาด ยืนยัน ร้านอาหารแบบเปิด ยังให้บริการได้ตามปกติ ย้ำ กทม.จะให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้ประกอบการ ด้าน ก.แรงงาน ย้ำ หากนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน เพราะโควิด-19 มีความผิด
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงในการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล covid 19 วันนี้ (18 มี.ค.) ถึงมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยง 14 วัน ระหว่างวันที่ 18-31 มีนาคม นี้ ว่า มีธุรกิจที่ต้องปิดชั่วคราว 8 ประเภท คือ 1. สถานประกอบการอาบอบนวด 2. กิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร หรือ ซาวน่า 3.โรงมหรศพ ทั้งโรงภาพยนต์ โรงละคร 4. ฟิสเนต 5. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ 6. สนามมวย 7. สนามกีฬา และ 8. สนามม้า โดยสถานประกอบการทั้งหมดจะต้องปิดชั่วคราว
“สถานประกอบการตามข้อ 5 ที่มีการสอบถามมามากที่สุด และเข้าข่ายที่ต้องปิด คือ สถานบันเทิงที่มีผู้คนจำนวนมาก ต้องนั่งติดกัน มีการเต้นรำ แสดงดนตรี มีลักษณะของพนักงานที่ดูแลใกล้ชิด เช่นเดียวกับสนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน หากอยู่ในสถานที่ปิด ก็ต้องปิดดำเนินการ สถานที่ออกกำลังกายแบบเปิด สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องมีมาตรการดูแลคัดกรอง โดยสถานที่ที่อยู่ในการดูแลของ กทม. ยืนยันมีเจ้าหน้าที่ในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย มีจุดตั้งเจลล้างมือ ส่วนร้านอาหารริมทางที่มีลักษณะเปิดในที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดได้ตามปกติ” พล.ต.ท.โสภณ กล่าว
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ในระหว่างที่ปิดบริการชั่วคราว กทม.ก็หวังว่า กิจการทั้ง 8 ประเภท จะใช้ช่วงของการปิดชั่วคราวปรับปรุงกิจการ และ ทำการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดตามจุดต่างๆ ภายในร้านให้ดีขึ้น เมื่อถึงระยะเวลาเปิดสถานประกอบการ จะมีการประเมินสถานการณ์ขณะนั้นอีกครั้งหนึ่ง และว่า กทม.และกรมสรรพสามิตรจะแจกแอลกออล์และแจกหน้ากากผ้าให้ให้ประชาชนด้วย
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนโดยภาพรวมในพื้นที่ กทม. พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการลดค่าเช้าแผงร้อยละ 25 ให้กับผู้ที่ทำสัญญาไว้กับ กทม. กว่า 20,000 ราย ระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน เมษายน – กรกฎาคม นี้ รวมถึงขยายระยะเวลาการจ่ายดอกเบี้ยในสถานธนานุบาลใน กทม. จาก 4 เดือน เป็น 8 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ย
ด้าน นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การต่อใบอนุญาตในการทำงานสำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ว่า เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงรูปแบบการต่อใบอนุญาตในการทำงาน โดย กลุ่มที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อ หรือ เนมลิสต์ มาเรียบร้อยแล้ว และมีการนัดหมายเรียบร้อย ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) เป็นต้นไป ไม่ต้องขอใบอนุญาตที่กระทรวงแรงงาน แต่ให้นายจ้างนำลูกจ้างมาลงตราวีซ่า ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีศูนย์บริการต่างด้าว ที่ อิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว ,บิ๊กซี สะพานใหม่ และบิ๊กซี ราชบูรณะ ส่วนการทำบัตรสีชมพู ให้ไปติดต่อที่สำนักงานเขตของ กทม.ทั้ง 50 เขต ขณะที่ ใบอนุญาตจัดหางาน ขอให้ไปที่สำนักงานจัดหางานที่ กทม.พื้นที่ 1-10 แต่ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน
นายจักษ์ กล่าวว่า กรณีนายจ้างยังไม่ได้มายื่นเนมลิสต์ ให้นายจ้างยื่นผ่านออนไลน์ หรือ ยื่นที่ศูนย์บริการ 4 แห่ง ได้ไม่ต้องพาลูกจ้างมา ตั้งแต่พรุ่งนี้ถึง 31 มีนาคม และหากยื่นแล้ว ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีการผ่อนผัน สำหรับกลุ่มคนที่ยื่นแล้ว ให้สามารถมาดำเนินการได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งหมดนี้ในเฉพาะพื้นที่ กทม. ส่วนต่างจังหวัดเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ที่จะปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสม หากมีปัญหา สามารถโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด2
นายจักษ์ กล่าวว่า หากสถานบริการถือโอกาสปิด และเลิกจ้าง นาย กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปดูแล ตรวจสอบอยู่ ให้ได้รับคุ้มครองตามกฏหมาย กระทรวงแรงงานจะมีพี่เลี้ยงนายจ้าง และไปทำความเข้าใจลูกจ้างด้วย สำหรับกรณีที่ลูกจ้างติดโควิด-19 หรือ ต้องกักตัว 14 วัน ประกันสังคมจะดูแล หากถูกให้ออกจากงาน เพราะโควิด-19 นายจ้างจะมีความผิดทันที .- สำนักข่าวไทย