รัฐสภา 18 มี.ค.-กรรมาธิการฯ หลายชุดยังประชุมตามปกติ ส่วนใหญ่พิจารณามาตรการเยียวยาโควิด -19 โดย กมธ.แรงงานฯ เสนอ 10 มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานช่วงแพร่ระบาของโควิด-19 ขณะที่อนุ กมธ.การเงินฯ เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปิดสถานประกอบการชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มี.ค.) นอกจากคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีการประชุมแล้ว ยังมีคณะกรรมาธิการอีกหลายชุดที่มีการประชุมตามปกติ
โดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน ที่มีนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้แถลงเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ 1.การกักตัว 14 วัน เป็นสิทธิของลูกจ้าง นายจ้างฝ่าฝืนต้องมีโทษ ห้ามบีบบังคับ ข่มขืนใจให้มาทำงานในภาวะเสี่ยง ห้ามให้การกักตัว 14 วัน เป็นเงื่อนไขในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง โบนัส ฯลฯ 2.หากการป่วยเกิดจากการติดในที่ทำงาน ควรได้รับผลประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนผู้ประกันตน 3.การกักตัวอยู่บ้านควรได้รับเงินทดแทนรายได้ 4.รัฐควรเข้าอุดหนุนสำหรับภาคธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม 5.ลดเงื่อนไขการเข้าตรวจแบบไม่มีค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลที่ถือหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคม
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า 6.จัดหาเสบียง อุปกรณ์ดำรงชีพให้ประชาชนในระหว่างที่ถูกกักตัว 7.ให้รัฐบาลเน้นการประชาสัมพันธ์โครงการรักษาพยาบาลของภาครัฐว่าไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นหน้าที่รัฐต้องจัดการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง 8.เพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรสาธารณสุข 9.จัดรถเมล์ฟรีเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ และ 10.แรงงานนอกระบบ ต้องเร่งพัฒนาระบบเงินเดือนให้เปล่า
นายสุเทพ ยังนำตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยตัวแทนกลุ่มนักศึกษาประกาศว่าจะงดชุมนุมแฟลชม็อบไปก่อน แต่จะเคลื่อนไหวผ่านช่องทางออนไลน์แทน
ขณะที่นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามระบบการเงิน การคลัง และระบบเศรษฐกิจ ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมโดยพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเสนอให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 18-31 มีนาคม 2563 โดยภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยาทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการ และมาตรการทางรายได้สำหรับผู้ใช้แรงงานระหว่างหยุดงาน ตลอดจนการจ้างงานหลังพ้นกำหนดหยุดงานชั่วคราว และสร้างแรงจูงใจไม่ให้เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ผ่อนคลายมาตรการทางการเงินอย่างเร่งด่วน โดยปรับปรุงเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น , แก้ไขหลักเกณฑ์การชำระเงินสมทบประกันสังคม โดยเฉพาะการลดยอดชำระเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง , ควรปรับปรุงมาตรการแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการนำค่าจ้างแรงงานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 3 เท่า โดยขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเปรียบเทียบจำนวนการจ้างงาน จากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มาเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2563 และให้สามารถหักลดหย่อนได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และควรพิจารณาผ่อนภาระทางภาษีเพิ่มเติม สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยคำนึงให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม.-สำนักข่าวไทย