กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – เคทีซีไม่ห่วงหนี้เอ็นพีแอลบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่ำ แม้มาตรฐานบัญชีใหม่จะเข้มข้นตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น
นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เปิดเวทีเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “KTC FIT Talks 6: เจาะลึก..อะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อมาตรฐาน TFRS9 เข้ามา”
นายชุติเดช กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับเคทีซีบนมาตรฐาน TFRS 9 ว่า การนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้สำหรับงบการเงินเคทีซีที่มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการรายงานตัวเลขทางการเงินมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจริง ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจะมาจากแนวทางการตัดหนี้สูญที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานเดิม โดยรายงานตัวเลขทางการเงินตาม TFRS9 จะแตกต่างไปจากเดิม 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1. การเปลี่ยนแปลงการตัดหนี้สูญกับการบันทึกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระเกินกว่า 90 วัน 2. การเปลี่ยนแปลงการบันทึกเอ็นพีแอลกับตัวชี้วัดสำคัญทางการเงิน 3. การเปลี่ยนแปลงการบันทึกรายได้ และ 4. การบันทึกกำไรทางบัญชีเพิ่มขึ้น
นายศุภมิตร เตชะมนตรีกุล หุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด กล่าวถึงสาระสำคัญของมาตรฐาน TFRS 9 ว่า TFRS 9 คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : เครื่องมือทางการเงินที่ใช้ลงบัญชีของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้แก่ บริษัทมหาชน กิจการที่ต้องระดมเงินในวงกว้างโดยการออกตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือเอกสารแสดงสิทธิ์ เช่น สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์และกองทุนรวม ฯลฯ รวมถึงกิจการที่กำลังขอจดทะเบียนออกตราสารในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน TFRS9 ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
ทั้งนี้ มาตรฐาน TFRS9 ได้ปรับเปลี่ยนหลักการเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน และการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน โดยมีส่วนสำคัญ คือ การกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุนในตราสารหนี้ สัญญาค้ำประกันทางการเงิน วงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากแนวคิดเดิมกันเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วมาเป็นการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เงินสำรองสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้ โดยกำหนดให้พิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยพิจารณากันเงินสำรองต่างกันตามสถานะหรือชั้นของลูกหนี้
สำหรับเคทีซีมีผลประกอบการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กำไรสุทธิ 5,524 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 85,834 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,510,914 บัตร พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 56,653 ล้านบาท เอ็นพีแอลรวม 1.06% เอ็นพีแอลบัตรเครดิต 0.93% ธุรกิจสินเชื่อบุคคล 888,342 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,933 ล้านบาท เอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคล 0.92%.-สำนักข่าวไทย