รัฐสภา 6 มี.ค.- แม้ค้าออลไลน์ เฮ….กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบธุรกิจออนไลน์ฯ เดินเครื่องแก้ปมรีดภาษีธุรกิจออนไลน์ สรรพากร ชี้แค่ชั้นการจัดเก็บข้อมูล-ยังไม่เรียกเก็บจริง
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้หยิบยกญัตติธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ e-payment ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีผลกระทบกับผู้ค้าออนไลน์ เนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะกรมสรรพากรเป็นครั้งแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เช่น การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี ต่อธนาคาร การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี ต่อธนาคาร และยอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า วันนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากกรมสรรพากร และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรมสรรพากร ยืนยันว่า การรับแจ้งจากธนาคารเป็นเพียงการจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีออนไลน์ เพราะการจัดเก็บภาษีออนไลน์จะต้องมีหลักเกณฑ์อื่นประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน ในสัปดาห์หน้า ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมอีคอมเมิร์ช เข้าชี้แจง
สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์ฯ มี ญัตติที่อยู่ในชั้นการพิจารณาจำนวน 3 ญัตติ คือ ญัตติธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ e-payment ญัตติการประกอบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และญัตติการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ E-commerce ที่มีผลต่อเศรษฐกิจชุมชน.-สำนักข่าวไทย