ก.แรงงาน 5 มี.ค.-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ออกประกาศ โควิด-19 ขอความร่วมมือนายจ้างลูกจ้างร่วมป้องกัน กรณีลูกจ้างมีความเสี่ยงต้องไปรับการตรวจรักษาให้นายจ้างอนุญาตโดยใช้สิทธิลาป่วยหรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมาย หรือตามที่ตกลงกัน
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ได้ออกประกาศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคลากรปฏิบัติตามแนวทางของประกาศ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังและป้องกันตนเอง ให้เจ้าหน้าที่งดหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตการปกครองหรือพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีการตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ ประชาชนหรือผู้ที่มาติดต่อราชการทุกคน เป็นต้น
ส่วนสถานประกอบกิจการ กสร.ได้ออกแนวทางในการขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวัง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวด้วย โดยขอให้สถานประกอบกิจการให้ความรู้แก่ลูกจ้าง ทำความสะอาดสถานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ จัดหาสบู่ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ให้กับลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการตรวจคัดกรองลูกจ้างก่อนเข้าทำงาน เป็นต้น
สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เช่น พบลูกจ้างป่วยเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาหยุดการผลิต/บริการ ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นายอภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดโรคหรือเป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้าง ใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการของนายจ้าง นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) หรือให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับลูกจ้าง ตลอดระยะเวลาที่หยุดงานก็ได้
“กรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวสิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3” นายอภิญญากล่าว .-สำนักข่าวไทย