เลย 25 ก.พ.- สทนช. เปิดเวทีที่จังหวัดเลยให้ข้อมูลและรับข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง เสนอคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อปรับปรุงโครงการให้เหมาะสม
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ศาลาประชาคมอำเภอเชียงคาน จ.เลย สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีผู้แทนจากเครือข่ายภาคประชาชน ลุ่มแม่น้ำโขงจังหวัดเลยและจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกว่า 150 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมบ่อแร่และกรมธรณีศาสตร์และแร่ธาตุ สปป.ลาว ร่วมให้ข้อมูลการสร้างเขื่อนหลวงพระบางด้วย
นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองเลขาธิการสํานักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ได้ดำเนินการตามระเบียบ ปฏิบัติ เรื่อง การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดเวทีมาแล้ว 2 ครั้ง ที่จังหวัดนครพนม และจังหวัดอำนาจเจริญ และครั้งนี้ที่อำเภอเชียงคาน ถือเป็นพื้นที่สุดท้ายของการจัดเวที มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงความเป็นมาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) รัฐบาลไทย นำไปหารือกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อพิจารณาปรับปรุงโครงการให้เหมาะสม
ส่วนข้อกังวลต่อการสร้างเขื่อนหลวงพระบางในเวทีครั้งนี้ ตัวแทนประชาชนเครือข่ายแม่น้ำโขง และผู้มีส่วนได้เสีย ได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อพันธุ์ปลา การขึ้น-ลงของน้ำผันผวน และระบบนิเวศน์ธรรมชาติในแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไป พร้อมเรียกร้องให้ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาก็เห็นมาแล้ว ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทำให้พื้นที่แม่น้ำโขงท้ายเขื่อน แห้งแล้งอย่างมาก
สำหรับการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง มีที่ตั้งโครงการอยู่ที่หมู่บ้านห้วยโง แขวงหลวงพระบาง ห่างจากปากแม่น้ำอู 4 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนไซยะบุรี 130 กิโลเมตร อยู่กึ่งกลางระหว่างเขื่อนไซยะบุรีกับเขื่อนปากแบง ลักษณะของเขื่อนเป็นแบบรันออฟริเวอร์ แบบขั้นบันได สันเขื่อนสูง 79 เมตร กว้าง 195 เมตร มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 1,460 เมกะวัตต์ มุ่งส่งออกไฟฟ้าไปจำหน่ายในประเทศไทยและเวียดนาม ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทหลวงพระบางพาวเวอร์จำกัด ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาล สปป.ลาว และบริษัทเปโตรเวียดนามพาวเวอร์จำกัด ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี นับจากปี 2563.-สำนักข่าวไทย