กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – “ชาญศิลป์” ซีอีโอ ปตท. ติงจะลดราคาหน้าโรงกลั่นฯต้องคิดให้รอบด้าน พร้อมเสนอปรับราคาเอ็นจีวีสดท้อนต้นทุน และเตรียมออกหุ้นกู้ 5 – 6 หมื่นล้านหวังใช้ช่วงดอกเบี้ยต่ำลดต้นทุน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะนี้ ปตท.ยังไม่ทราบผลการของคณะทำงาน ราคาพลังงานที่เป็นธรรม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ที่ศึกษาปรับปรุงสูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และไม่เชื่อว่าจะลดราคาหน้าโรงกลั่นฯลง 50 สตางค์/ลิตร เพราะธุรกิจน้ำมันของไทยเป็นกลไกลตลาดเสรี โดยที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นฯมีทั้งขาดทุนและกำไร ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ โรงกลั่นก็ขาดทุน ก็ไม่มีฝ่ายใดคำนึงถึง และที่สำคัญปัจจุบันนี้ โรงกลั่นฯมีกำลังกลั่นราว 9 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นการกลั่นน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน ราว 60 ล้านลิตรต่อวัน หากลดราคาลง 50 สตางค์/ลิตร ก็จะมีผลราว 30 ล้านบาท/วัน ซึ่งก็จะกระทบทั้งรายได้ของโรงกลั่น และกระทบต่อการจ่ายภาษีแก่ภาครัฐ โดยหากรัฐต้องการให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ภาครัฐก็ควรจะมาดูถึง โครงสร้างราคาน้ำมัน ที่พบว่า มีการจ่ายภาษีและกองทุฯแก่รัฐค่อนข้างสูง หากจะลดจริงควรดูสิ่งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันปรับลดสูงมากเกินไป จะส่งผลทำให้เกิดการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
นายชาญศิลป์ ยังเสนอความเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวี และค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบัน ปตท.รับภาระ เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาขายปลีก ราว 0.80 – 1 บาท/กก. จากราคาขายปลีกที่ 15.31 บาท/กก. และยังรับภาระในส่วนของลดราคาให้รถสาธารณะให้ต่ำกว่า ราคาขายปลีกอีก 2 บาท/กก. ทำให้ ปตท.ต้องมีภาระอุดหนุน รถสาธารณะถึง 300 ล้านบาทต่อเดือน
ส่วนนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี เข้ามาในปีนี้ เพราะราคาถูกกว่าราคาในอ่าวไทยนั้น ในขณะนี้ ปตท.ศึกษาเบื้องต้นว่า ประเทศไทยสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีราคาตลาดจร ราว 2-5 ลำเรือ ซึ่งเป็นส่วนของการนำเข้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. โดยเป็นการนำเข้านอกเหนือจากสัญญาระยะยาวที่ ปตท.มีข้อตกลง 5.2 ล้านตัน/ปี โดยคาดว่าราคาสปอตตลาดอาเซียนปีนี้จะอยู่ที่ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู
สำหรับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี แอลเอ็นจี โดยในส่วนของการใช้น้ำมันของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว คาดหมายว่าจะมีผลกระทบในไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ และจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลต่อการกระจายหุ้น ของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์ แต่โออาร์จะกระจายหุ้นได้ภายในปีนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของภาครัฐและภาวะที่เหมาะสม
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า ปตท.มีแผนออกหุ้นกู้ 5 – 6 หมื่นล้านบาท ในกลางปีนี้ หลังจากที่ไม่ได้ออกมานาน 2 ปีแล้ว โดยการออกหุ้นกู้ก็เพื่อนำเงินมาลงทุนและรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม โดยคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยที่ปัจจุบัน ปตท.มีต้นทุนเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 . – สำนักข่าวไทย