กรุงเทพฯ 10
ก.พ.-ไทยหารือญี่ปุ่นด้านพลังงานเตรียมจับมือ ร่วมนำเข้าแอลเอ็นจี ให้
ปตท.สานต่อแผน ฮับอาเซียน ด้าน บอร์ด กฟผ.ไฟเขียวนำเข้าแอลเอ็นจี ตลาดจร 3 ปี รวม
4 ล้านตัน
เว็บไซต์กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.63 นายกุลิศ สมบัติศิริ
ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานเข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานไทย-ญี่ปุ่น
ครั้งที่ 4 หรือ The 4th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue (4th JTEPD) ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยหารือ ทั้ง
ด้านไฟฟ้า ด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
รวมทั้งด้านเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ ที่จะก้าวไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดแห่งอนาคต
อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รถ EV ระบบกักเก็บพลังงาน
เป็นต้น
โดยทั้ง 2 ประเทศ
มีการนำเสนอแนวทางพัฒนาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น
การร่วมทุนในโครงการด้านพลังงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมโอกาสการซื้อขาย
ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG
รายย่อยในกลุ่มประเทศอาเซียน ในฐานะที่ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น
LNG Trading Hub ของอาเซียน
การร่วมลงทุนขยายสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนมากขึ้น
การเชิญชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น AI IoT Big data กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย เป็นต้น
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในเรื่อง LNG ได้มอบหมายให้ บมจ. ปตท.
เจรจากับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือ
โดยเฉพาะการที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าLNG อันดับใหญ่ที่สุดของโลกในขณะที่
ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานนำเข้าก๊าซฯที่จะกระจายไปสู่เพื่อนบ้านซึ่งต้องดูว่าสามารถร่วมมือกันได้หรือไม่ทั้งด้านการต่อรองราคากับผู้ขายหรือการขนส่งร่วมกัน
เพื่อให้ได้ราคาที่ดีแก่ผู้บริโภคคาดจะมีความชัดเจนในครึ่งแรกของปีนี้
นายวุฒิกร
สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)
หรือ PTT กล่าวว่า
ปตท.ได้เริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการขนถ่าย LNG (Reload System) เพื่อขนถ่าย LNG
จากคลังสู่เรือขนาดเล็ก
เพื่อเตรียมขนส่งเชิงพาณิชย์ตามแผนในไตรมาส 3 ปีนี้ รองรับนโยบาย LNG Trading Hub ภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้น มีแผนจะส่งออกไปจีน
แต่เนื่องจากติดปัญหาไวรัสโคโรนา ทำให้จีนชะลอการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า
เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
ก็เชื่อว่าจีนจะกลับมามีความต้องการใช้ LNG ตามแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
การประชุมคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ได้เห็นชอบแผนการจัดหา LNG แบบตลาดจร (Spot) เพิ่มเติม ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี
2563-2565 แบ่งเป็น ปี2563 ปริมาณไม่เกิน 0.6 ล้านตันต่อปี,ปี2564 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี2565 ปริมาณ
1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อให้ กฟผ.
มีความยืดหยุ่นทั้งด้านความมั่นคงและต้นทุนเชื้อเพลิง
สามารถบริหารจัดการก๊าชธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งขณะนี้
กฟผ.อยู่ระหว่างการนำเสนอแผนงานดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป.- สำนักข่าวไทย