กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – กลุ่ม ปตท.ผลิตปิโตรเคมีเต็มที่ แม้ “โคโรนาไวรัส” ทำดีมานด์เม็ดพลาสติกจีนลดลง พร้อมเสนอแผนแก้ภัยแล้งภาคอุตสาหกรรมตะวันออก โดยภาครัฐควรอออกพีพีพี ทำโครงการนำน้ำทะเลมาผลิตน้ำอุตสาหกรรม ส่วนแผนจะลดก๊าซเมียนมา-อ่าวไทย พึ่งพาแอลเอ็นจี เพราะราคาถูกกว่าทำได้หรือไม่ รู้ผลอีก 1-2 เดือน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (จีซี ) และ บมจ.ไออาร์พีซี ปีนี้เดินหน้าเดินเครื่องผลิตปิโตรเคมีเต็มกำลังผลิต แม้ขณะนี้จีนจะมีความต้องการใช้ลดลงจากการปิดโรงงานผลิตจากกรณีโคโรนาไวรัส ซึ่งเชื่อว่าผลกระทบจะเป็นการชั่วคราว โดย 1-2 ไตรมาสนี้คาดการเดินทางและโรงงานต่าง ๆ จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับ ทั้ง 2 บริษัทปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (turn around) ปีที่แล้ว ในปีนี้จึงเดินเครื่องผลิตเต็มที่ และการที่โรงงานปิโตรเคมีของโลกได้มีการปิดตัวไปหลายโรงงานจากผลสงครามการค้าสหรัฐ-อาจเป็นโอกาสเพิ่มการส่งออกของ กลุ่ม ปตท.ได้มากขึ้น
“โคโรนาไวรัส ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ เพราะมีกำลังผลิตปิโตรเคมีเพียงร้อยละ 3-4 ของกำลังผลิตโลก ทางไออาร์พีซี-จีซี ได้ปรับตัวจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน 2 ปีที่ผ่านมา ลดการพึ่งพาตลาดจีนจากมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 40 โดยไปขายตลาดอื่น ๆ เช่น อินเดีย แอฟริกา อาเซียน และตะวันออกกลาง” นายชาญศิลป์ กล่าว
ส่วนนโยบายรัฐบาลให้เร่งลงทุนจากช่วงบาทแข็งค่า รวมทั้งการให้ศึกษานำเข้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งราคาต่ำผิดปกติมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศ นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปตท.เร่งดำเนินการทั้ง 2 เรื่อง โดยในส่วนของก๊าซฯ นั้น จะได้คำตอบไตรมาส 1 ปีนี้ หากนำเข้ามาทดแทนจะไม่ถึง 1 ล้านตัน เป็นราคาตลาดจร (สปอต) นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทดแทนน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ต้องเจรจากับผู้ผลิตปิโตรเลียมทั้งฝั่งอ่าวไทยและเมียนมาว่าจะสามารถกำลังผลิตได้อย่างไรถึงเหมาะสม เพราะต้องคำนึงถึงสัญญาซื้อขาย หากลดแล้วจะมีค่า Take or Pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) หรือไม่อย่างไร ปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซฯ ประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยร้อยละ 70 มาจากอ่าวไทย ที่เหลืออย่างละครึ่งมาจากเมียนมาและแอลเอ็นจี ซึ่งต้องยอมรับว่าราคาแอลเอ็นจีราคาตลาดจรขณะนี้ต่ำผิดปกติ เหลือไม่ถึง 4 ดอลลาร์/ล้านบีทียู จากราคาก๊าซฯ ตลาดรวมเฉลี่ยประมาณ 7-8 ดอลลาร์/ล้านบีทียู
ส่วนการลงทุน กลุ่ม ปตท.ปีนี้คาดกว่า 100,000 ล้านบาท มีหลายโครงการเร่งลงทุนไม่ได้ เพราะติดเรื่องเงื่อนไขเงินกู้เรื่องค่าธรรมเนียมลงทุน Front End ต่าง ๆ แต่พยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่จะเริ่มลงทุนถมทะเลปีนี้ และกำลังรอรัฐบาลประกาศผู้ชนะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หากรัฐบาลประกาศได้ในไตรมาส 1 หรือ 2 ปีนี้ ก็จะเห็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันทาง ปตท.ได้เสนอไปยังรัฐบาลว่าควรดำเนินโครงการป้องกันปัญหาภัยแล้งในอนาคต น้ำเพื่ออุตสาหกรรมในภาคตะวันออกทั้งจังหวัดชลบุรี ระยอง ควรมีเพียงพอ ด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือพีพีพี โดยนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ภาคอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศแผนลงทุนอีอีซี มีการเตรียมพร้อมลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ ทั้งไฟฟ้า ,การลงทุนระบบราง แต่ระบบน้ำยังลงทุนไม่เพียงพอต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นมาทุกภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งภาครัฐต้องศึกษาแนวทางสนับสนุน เช่น ระบบภาษี การส่งเสริมการส่งน้ำระบบท่อ ที่ต้องกำหนดราคาให้เป็นธรรม การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
“ปตท.พร้อมเข้าร่วมทุนโครงการผลิตน้ำอุตสาหกรรมจากน้ำทะเล โดยจากเทคโนโลยีปัจจุบันต้นทุนต่ำลง ซึ่ง ปัจจุบันนี้โรงกลั่นไทยออยล์ และจีซี มีการผลิตด้วยระบบนี้ประมาณร้อยละ 10-20 ของความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรม” นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยองและภาคอุตสาหกรรมติดตามเรื่องภัยแล้งภาคตะวันออกทุกวัน โดยขณะนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะพึ่งพาน้ำจากแหล่งธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งต้องดูถึงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ว่าฝนจะตกเหนืออ่างน้ำภาคตะวันออกหรือไม่ หากฝนมาก็จะพ้นวิกฤติไปได้.-สำนักข่าวไทย