กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้แทนเจรจาสำนักผู้แทนทางการค้าสหรัฐอเมริกาถึงเหตุผลที่ไม่สามารถอนุญาตนำเข้าสุกรได้ เนื่องจากกฎหมายไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง หวังสหรัฐเข้าใจถึงความห่วงใยในสุขภาพอนามัยประชาชน ไม่ใช่เหตุผลกีดกันทางการค้า จนนำไปสู่การตัด GSP สินค้าไทย ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติทำหนังสือถึงนายกฯ ขอรัฐบาลไม่เปิดตลาดสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐ
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอชี้แจงเหตุผลที่ไม่ควรอนุญาตให้มีการเปิดตลาดสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าตามที่สหรัฐอเมริกากดดันรัฐบาลไทย เพื่อเปิดตลาดให้ โดยทั้งภาคเอกชนและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกาอ้างถึง มติคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission – CAC) ที่กำหนดค่าตกค้างขั้นต่ำของ Rectopamine ที่เป็นสารเร่งเนื้อแดงว่า แม้สหรัฐใช้ในการเลี้ยงสุกร แต่ค่าตกค้างไม่เกิน ภาคเอกชนสหรัฐกล่าวหาว่าไทยเลือกปฏิบัติ โดยนำเข้าจากนานาประเทศ เช่น จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี แต่กลับไม่ยอมเปิดตลาดให้สหรัฐ เอกชนผู้เลี้ยงสุกรและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐระบุว่าไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐ มากเป็นลำดับต้น ๆ แต่ไทยกลับไม่ยอมเปิดตลาดให้สหรัฐ จึงเรียกร้องให้มีการตัดสิทธิ GSP สินค้านำเข้าจากประเทศไทย
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าวว่า ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสุกรของไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับสหรัฐ คือ เลี้ยงสุกรเพื่อบริโภคในประเทศ รวมถึงรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาเพื่อช่วยให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น โดย 3 ปีที่ผ่านมา การเลี้ยงสุกรและไก่เนื้อของไทยสร้างหลักประกันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ เมื่อเกษตรปศุสัตว์ของไทยเข้มแข็งจะช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินของประเทศที่ต้องนำมาจัดสรรประกันรายได้สินค้าเกษตร นอกจากนี้ ผลผลิตสุกรภายของไทยยังคงเกินกว่าความต้องการภายในประเทศ จึงแก้ปัญหา โดยการส่งออก แต่ติดข้อจำกัดองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่ทางภาครัฐเพิกเฉย
สำหรับหนังสือที่ทำถึงนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ได้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ควรอนุญาตให้มีการเปิดตลาดสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐอเมริกาว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยื่นฟ้องร้องคณะผู้ร่วมการประชุม Codex Alimentarius Commission – CAC ครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 ในการกระทำผิดหน้าที่ราชการต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด โดยผู้ถูกร้อง ได้แก่ ส่านักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อขออำนาจศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ผู้ถูกร้องยื่นบันทึกความไม่เห็นชอบการรับรองหรือตั้งข้อสงวน หรือคัดค้านข้อมติผลการประชุม คณะกรรมการโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission) ครั้งที่ 35 กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลีในช่วงวันดังกล่าวเรื่อง รับรองร่างมาตรฐานค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุดสำหรับแรคโตพามีน ปัจจุบันผ่านมาเกือบ 7 ปี จนไทยมีกฎหมายห้ามใช้และห้ามปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงทุกชนิดทำให้การเปิดตลาดสินค้าสุกรจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารต้องห้ามไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะสร้างปัญหาทางสังคมและเกิดข้อกังขาว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้ต่างประเทศ ขณะเดียวกันจับกุมผู้เลี้ยงสุกรที่ฝ่าฝืนใช้สารเร่งเนื้อแดงมาตลอด
ส่วนที่ภาคเอกชนผู้เลี้ยงสุกรและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐเรียกร้องให้มีการตัดสิทธิ GSP สินค้านำเข้าจากไทยด้วยเหตุผลการกล่าวหาว่า ไทยกีดกันสินค้าสุกรจากสหรัฐ เนื่องจากไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยมีข้อพิพาทกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าว จึงขอรัฐบาลไม่ควรอนุญาตให้มีการเปิดตลาดสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งควรยุติการเจรจาการเปิดตลาดให้แก่ประเทศที่มีข้อกฎหมายต่างกับกฎหมายของประเทศในเรื่อง มาตรฐานอาหารอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจการเกษตรทั้งระบบของไทย
ล่าสุดนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริการ่วมกับผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงขั้นตอนการอนุญาตนำเข้าสินค้าสุกรจากสหรัฐอเมริกาต่อสำนักผู้แทนทางการค้า (USTR) รวมทั้งชี้แจงข้อกล่าวหาว่าไทยไม่ได้กีดกันทางการค้าต่อสหรัฐ ทั้งนี้ GSP เป็นสิทธิพิเศษทางภาษีที่สหรัฐให้แก่ประเทศต่าง ๆ ที่ส่งสินค้าไปขายในสหรัฐ โดยเป็นการให้ฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาสหรัฐยกหลายเหตุผลในการตัดสิทธิ GSP ของไทย จึงไม่มีการรับประกันว่า หากไทยเปิดตลาดรับสินค้าสุกรจากสหรัฐแล้วจะไม่ถูกตัด GSP อีก.-สำนักข่าวไทย