ศิริราช 29 ม.ค.-คณบดีศิริราช ให้การต้อนรับ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ และศ.นพ.เดวิด เมบี ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสาขาการแพทย์และสาขาการสาธารณสุข ก่อนเข้ารับพระราชทานรางวัล ในวันพรุ่งนี้ ที่พระบรมมหาราชวัง โดยผลงานโดดเด่น ทั้งการศึกษาวงจรชีวิตไวรัสตับอักเสบซี นำมาสู่การพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพ และการค้นพบสาเหตุการตาบอดจากริดสีดวง นำมาสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 สาขาการแพทย์ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาขาสาธารณสุข ศ.นพ.เดวิด เมบี จากสหราชอาณาจักร ถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ,สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ณ ตึกสยามินทร์
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ในวันพรุ่งนี้ เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
สำหรับ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผลงานโดดเด่น ในการศึกษาวงจรชีวิตไวรัสตับอักเสบซี เพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง สร้างแบบจำลองชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัส นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือ DAA สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ให้หายได้ถึงร้อยละ 95 มีผลข้างเคียงน้อย และปัจจุบันฝนปี 2558-2559 อัตราการเข้าถึงยาดังกล่าวมีถึง1.5ล้านคน โดยที่ประเทศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการต่อรองราคายาให้ถูกกว่าร้อยละ70 และบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
ส่วน ศ.นพ.เดวิต เมบี สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิกวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตา มากว่า 30ปี โดยโรคริดสีดวงตา เป็นโรคที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย คลามิเดีย ทราโค มาติส และค้นพบว่า โรคริดสีดวงตา เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย นำมาสู่การนโยบายขององค์การอนามัยโลก ใช้โปรแกรมเชฟ ประกอบการควบคุมการผ่าตัด รักษาแบบครอบคลุมยาปฎิชีวนะ ส่งเสริมการล้างหน้า ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งเป้า ให้ ภายใน ปี 2568 กำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปจากปัญหาทางสาธารณสุข และไม่เป็นสาเหตุของการตาบอด .-สำนักข่าวไทย